ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

ช่วย​ชีวิต​ทารก​แรก​เกิด

แต่​ละ​ปี​มี​ทารก​สี่​ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต​ใน​ช่วง​หนึ่ง​เดือน​หลัง​คลอด. วารสาร​บิลด์ แดร์ วิสเซนชาฟท์ ภาษา​เยอรมัน​รายงาน​ว่า การ​เสีย​ชีวิต​ใน​ระยะ​แรก​เกิด​นี้ “นับ​เป็น 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​การ​เสีย​ชีวิต​ใน​เด็ก​อายุ​ต่ำ​กว่า​ห้า​ปี.” จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ช่วย​ชีวิต​ทารก​แรก​เกิด? วิธี​การ​ที่​ไม่​ต้อง​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​สูง​ซึ่ง​มี​แนะ​ไว้​ใน​การ​ศึกษา​เรื่อง “สถานะ​ทารก​แรก​เกิด​ของ​โลก” นั้น​หมาย​รวม​ถึง​สิ่ง​ง่าย ๆ เช่น การ​ทำ​ให้​ทารก​อบอุ่น​และ​การ​ให้​นม​มารดา​ทันที​หลัง​จาก​คลอด ซึ่ง​ช่วย​ให้​ทารก​มี​ภูมิ​คุ้ม​กัน​โรค. นอก​จาก​นั้น การ​เสีย​ชีวิต​ยัง​อาจ​ป้องกัน​ได้​ด้วย​การ​บำรุง​รักษา​สุขภาพ​ของ​ผู้​ที่​กำลัง​ตั้ง​ครรภ์ ซึ่ง​หลาย​คน​ทำ​งาน​มาก​เกิน​ไป​และ​ขาด​สาร​อาหาร​และ​ยัง​ไม่​ฟื้น​ตัว​เต็ม​ที่​จาก​การ​คลอด​บุตร​ครั้ง​ก่อน. “ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา ที่​ซึ่ง​มี 98 เปอร์เซ็นต์​ของ​การ​เสีย​ชีวิต​ใน​ทารก​แรก​เกิด” ทั้ง​หมด อาจ​ฝึก​สอน​ชาว​บ้าน​ใน​การ​ผดุง​ครรภ์​ได้. การ​ศึกษา​นั้น​บอก​ว่า “งาน​หลัก​ของ​พวก​เขา​คือ​การ​ให้​คำ​แนะ​นำ​แก่​ผู้​ที่​กำลัง​ตั้ง​ครรภ์, ดู​แล​ให้​มี​สุขอนามัย​ที่​ดี, และ​ให้​วัคซีน.”

ประภาคาร​กำลัง​น้อย​ลง

หนังสือ​พิมพ์​ไฟแนนเชียล โพสต์ กล่าว​ว่า “เช่น​เดียว​กับ​ที่​หลอด​ไฟ​เข้า​มา​แทน​ที่​เทียน ประภาคาร​อัตโนมัติ​ก็​ได้​เข้า​มา​แทน​ที่​คน​ดู​แล​ประภาคาร​ที่​เอา​การ​เอา​งาน. ตอน​นี้​ดู​เหมือน​ว่า​แม้​แต่​ประภาคาร​อัตโนมัติ​ก็​กำลัง​จะ​หมด​ไป​ด้วย.” แม้​ว่า​ประภาคาร​รุ่น​ใหม่​ส่อง​ลำ​แสง​กำลัง​แรง​ที่​สามารถ​มอง​เห็น​ได้​จาก​ทะเล​ใน​ระยะ 32 กิโลเมตร​และ​มี​แตร​หมอก​อัตโนมัติ​เพื่อ​เตือน​นัก​เดิน​เรือ​ว่า​ใกล้​ถึง​ฝั่ง​แล้ว แต่​เทคโนโลยี​ดาว​เทียม​ก็​ทำ​ให้​นัก​เดิน​เรือ​สามารถ​รู้​ตำแหน่ง​ที่​แน่นอน​ของ​ตัว​เอง​ได้. ปัจจุบัน​มี​การ​ติด​ตั้ง​ระบบ​กำหนด​ตำแหน่ง​บน​โลก​ไว้​บน​เรือ​ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ดวง​ตา​เมื่อ​ลูกเรือ​ไม่​อาจ​มอง​เห็น​สิ่ง​ที่​อยู่​ข้าง​หน้า​ได้. ไมค์ คลีเมนส์ ผู้​จัด​การ​โครงการ​ที่​ทำ​งาน​กับ​หน่วย​ยาม​ชายฝั่ง​แคนาดา​ใน​เมือง​เซนต์จอห์น เกาะ​นิวฟันด์แลนด์ กล่าว​ว่า ระบบ​กำหนด​ตำแหน่ง​บน​โลก “อาจ​จะ​ทำ​ให้​ประภาคาร​กลาย​เป็น​ของ​ฟุ่มเฟือย. ไม่​มี​อะไร​จะ​เทียบ​กับ [ระบบ​นี้] ได้. คุณ​เดิน​เรือ​โดย​อาศัย​ประภาคาร​ไม่​ได้.”

การ​พูด​คุย​ของ​ทารก

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “เช่น​เดียว​กับ​เด็ก​ทารก​ซึ่ง​พ่อ​แม่​มี​การ​ได้​ยิน​ปกติ​จะ​เริ่ม​ส่ง​เสียง​อ้อ​แอ้​เมื่อ​อายุ​ราว ๆ เจ็ด​เดือน . . . เด็ก​ที่​โต​ขึ้น​ใน​ครอบครัว​คน​หู​หนวก​จะ​เริ่ม​อ้อ​แอ้​แบบ​เงียบ ๆ โดย​ใช้​มือ​เลียน​แบบ​วิธี​หลัก​ที่​พ่อ​แม่​ใช้​ใน​การ​สื่อสาร” แม้​ว่า​เด็ก​เหล่า​นั้น​จะ​ได้​ยิน​เสียง​ก็​ตาม. การ​วิจัย​ที่​นำ​โดย​ศาสตราจารย์​ลอรา เปติตโต แห่ง​มหาวิทยาลัย​แมกกิลล์ นคร​มอนทรีออล ประเทศ​แคนาดา อธิบาย​ว่า ทารก​เกิด​มา​พร้อม​กับ​ความ​สามารถ​ใน​การ​ตอบ​สนอง​ต่อ​จังหวะ​และ​รูป​แบบ​ต่าง ๆ ที่​เป็น​ลักษณะ​เด่น​ของ​ทุก​ภาษา รวม​ทั้ง​ภาษา​มือ. เธอ​กล่าว​ว่า ทารก​ที่​มี​การ​ได้​ยิน​ปกติ แต่​มี “พ่อ​แม่​เป็น​คน​หู​หนวก​ซึ่ง​ใช้​ภาษา​มือ จะ​เคลื่อน​ไหว​มือ​ใน​ลักษณะ​พิเศษ​ด้วย​จังหวะ​ที่​มี​รูป​แบบ​เฉพาะ​ตัว​ซึ่ง​ต่าง​จาก​การ​เคลื่อน​ไหว​มือ​ใน​ลักษณะ​อื่น ๆ. . . . นั่น​คือ​การ​อ้อ​แอ้​ด้วย​มือ.” เด็ก​ที่​เห็น​พ่อ​แม่​ใช้​ภาษา​มือ​มี​การ​เคลื่อน​ไหว​มือ​สอง​แบบ แต่​เด็ก​ที่​พ่อ​แม่​ใช้​ภาษา​พูด​มี​การ​เคลื่อน​ไหว​มือ​เพียง​แบบ​เดียว. คณะ​นัก​วิจัย​ใช้​ระบบ​ตรวจ​หา​ตำแหน่ง​เพื่อ​บันทึก​การ​เคลื่อน​ไหว​ของ​มือ​เด็ก​เมื่อ​อายุ 6, 10, และ 12 เดือน.

ม้วน​หนังสือ​ทะเล​เดดซี​ได้​รับ​การ​จัด​พิมพ์

วารสาร​ยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต กล่าว​ว่า “กว่า​ครึ่ง​ศตวรรษ​หลัง​จาก​ที่​มี​การ​ค้น​พบ​ม้วน​หนังสือ​ทะเล​เดดซี​ใน​ถ้ำ​แห่ง​ทะเล​ทราย​ยูเดีย ตอน​นี้​ผู้​คง​แก่​เรียน​กำลัง​ฉลอง​การ​จัด​พิมพ์​ส่วน​สุด​ท้าย​ของ​ข้อ​ความ​ทาง​ศาสนา​ที่​มี​อายุ 2,000 ปี.” ศาสตราจารย์​เอมานูเอล โทฟ หัวหน้า​คณะ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ซึ่ง​วิเคราะห์​ม้วน​หนังสือ​นี้ เป็น​ผู้​แถลง​เกี่ยว​กับ​การ​จัด​พิมพ์​หนังสือ 37 เล่ม​ชุด​นี้. ผล​งาน​ชิ้น​นี้​สำเร็จ​ได้​เนื่อง​จาก​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่ รวม​ทั้ง​การ​ถ่าย​ภาพ​แบบ​ดิจิตอล​และ​การ​จัด​การ​ภาพ​แบบ​หลาย​สเปกตรัม​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​คง​แก่​เรียน​สามารถ​ถอด​ข้อ​ความ​ซึ่ง​จาง​หาย​ไป​แล้ว. ข้อ​ความ​เหล่า​นี้​ซึ่ง​แปล​จาก​ภาษา​ฮีบรู, อาระเมอิก, กรีก, และ​ลาติน มี​อายุ​ตั้ง​แต่​ปี 250 ก่อน ส.ศ. ถึง​ปี ส.ศ. 70.

รับมือ​กับ​ความ​ไม่​แน่นอน

หนังสือ​พิมพ์​โกลบ แอนด์ เมล์ แห่ง​แคนาดา​รายงาน​ว่า การ​ขาย​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​สมาชิก​สมาคม​ผู้​ค้า​หนังสือ​คริสเตียน​แห่ง​แคนาดา ได้​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง 30 เปอร์เซ็นต์​นับ​ตั้ง​แต่​ผู้​ก่อ​การ​ร้าย​โจมตี​สหรัฐ. มาร์ลีน ล็อกลิน ผู้​อำนวย​การ​ฝ่าย​บริหาร​ของ​สมาคม​นั้น​กล่าว​ว่า “ผู้​คน​พยายาม​แสวง​หา​คำ​ตอบ. ความ​กลัว​เป็น​ปัจจัย​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เรื่อง​นี้. มี​คำ​ถาม​มาก​มาย​ที่​ยัง​ไม่​ได้​รับ​คำ​ตอบ​ใน​ความ​คิด​จิตใจ​ของ​ผู้​คน.” รายงาน​นี้​เสริม​ว่า​แม้​แต่​ใน​ร้าน​หนังสือ​เล็ก ๆ ก็​พบ​ว่า “หนังสือ​ใด​ก็​ตาม​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาสนา​ซึ่ง​อาจ​ช่วย​ผู้​คน​ให้​เข้าใจ​เหตุ​การณ์​อัน​น่า​เศร้า​สลด​นั้น​มี​ยอด​ขาย​เพิ่ม​ขึ้น.” ตาม​คำ​กล่าว​ของ​อาจารย์​ด้าน​เทววิทยา​แห่ง​มหาวิทยาลัย​โทรอนโต นี่​เป็น​ปฏิกิริยา​ที่​เกิด​ขึ้น​โดย​ทั่ว​ไป. อาจารย์​ผู้​นี้​กล่าว​ว่า “ใน​ช่วง​เวลา​ที่​มี​ความ​ไม่​แน่นอน​อยู่​มาก ผู้​คน​เริ่ม​ตั้ง​คำ​ถาม​พื้น​ฐาน​เกี่ยว​กับ​ศาสนา” และ “การ​หา​คำ​ตอบ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​อาจ​ช่วย​ได้.”

เอดส์—สาเหตุ​การ​ตาย​อันดับ​หนึ่ง​ของ​แอฟริกา​ใต้

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​การ​ศึกษา​ของ​สภา​วิจัย​การ​แพทย์​แห่ง​แอฟริกา​ใต้​ดัง​นี้: “เอดส์​กลาย​เป็น​สาเหตุ​อันดับ​หนึ่ง​ของ​การ​เสีย​ชีวิต​ใน​แอฟริกา​ใต้ และ​หนุ่ม​สาว​ที่​อยู่​ใน​วัย​ผู้​ใหญ่​ได้​รับ​ผล​กระทบ​มาก​ที่​สุด.” นัก​วิจัย​ประมาณ​ว่า ใน​ทศวรรษ​หน้า ผู้​คน​ใน​แอฟริกา​ใต้​ประมาณ​ห้า​ถึง​เจ็ด​ล้าน​คน​จะ​เสีย​ชีวิต​จาก​โรค​เอดส์. หญิง​สาว​ใน​วัย 20 ปี​มี​อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​สูง​กว่า​ผู้​หญิง​วัย 60 ปี. บทความ​นี้​เสริม​ว่า แอฟริกา​ใต้ “มี​ประชากร​ที่​ทราบ​กัน​ว่า​ติด​เชื้อ​ไวรัส​เอช​ไอ​วี ซึ่ง​เป็น​สาเหตุ​ของ​โรค​เอดส์ มาก​กว่า​ประเทศ​อื่น​ใด. เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​กล่าว​ว่า ปัจจุบัน​เชื่อ​กัน​ว่า​ชาว​แอฟริกา​ใต้​หนึ่ง​ใน​เก้า​คน และ​ผู้​ใหญ่ [อายุ 30-34 ปี] หนึ่ง​ใน​สี่​คน​ติด​เชื้อ​เอช​ไอ​วี.”

อยู่​ใน​เมือง

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​กล่าว​ว่า “ใน​ปี 1900 เมือง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก​ได้​แก่​ลอนดอน, นิวยอร์ก, ปารีส, เบอร์ลิน​และ​ชิคาโก.” แต่​จาก​ประมาณ​การณ์​ครั้ง​ใหม่ “พอ​ถึง​ปี 2015 เมือง​ใน​ซีก​โลก​ตะวัน​ตก​จะ​ถูก​แซง​หน้า. โตเกียว, บอมเบย์, ลากอส, ธากา​ใน​บังกลาเทศ​และ​เซาเปาลู​ใน​บราซิล​จะ​เป็น​เมือง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด.” เมือง​เหล่า​นี้​กับ​อีก 25 เมือง​จะ​มี​ประชากร​เมือง​ละ​มาก​กว่า 20 ล้าน​คน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หนังสือ​พิมพ์​ไทมส์ กล่าว​ว่า “การ​กะ​ประมาณ​แสดง​ว่า​พอ​ถึง​ปี 2015 ลอนดอน​จะ​เสีย​ตำแหน่ง​หนึ่ง​ใน 30 เมือง​ที่​มี​ประชากร​มาก​ที่​สุด​และ​จะ​เป็น​เมือง​อันดับ​ต้น ๆ เพียง​เมือง​เดียว​ที่​ประชากร​ลด​ลง.” การ​ที่​ประชากร​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​หลาย​อย่าง. ดักลาส แมสซีย์ อาจารย์​ใน​คณะ​สังคมศาสตร์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เพนซิลเวเนีย สหรัฐ​อเมริกา กล่าว​ว่า “คน​จน​จะ​อยู่​กัน​อย่าง​แออัด​มาก​ขึ้น​ใน​ย่าน​คน​จน​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​เด่น​คือ​มี​อัตรา​อาชญากรรม, ความ​รุนแรง​และ​ปัญหา​สังคม​สูง.” โตเกียว​ซึ่ง​มี​ประชากร 26 ล้าน​คน​และ​คาด​กัน​ว่า​จะ​พุ่ง​ขึ้น​ถึง 30 ล้าน​คน​ใน​เร็ว ๆ นี้ สามารถ​รับมือ​ได้​เนื่อง​จาก​เมือง​นี้​มี​การ​เติบโต​ช้า​ลง​และ​มี​สาธารณูปโภค​และ​การ​บริการ​ที่​จำเป็น. ตาม​คำ​กล่าว​ของ​แมสซีย์ ตั้ง​แต่​สมัย​โรมัน​จน​ถึง​สมัย​วิกตอเรีย ประชากร​ของ​โลก​อยู่​ใน​เมือง​ไม่​เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่​เขา​คาด​ว่า​พอ​ถึง​ปี 2015 ประชากร 53 เปอร์เซ็นต์​จะ​อยู่​ใน​เมือง.

เลิก​สูบ​บุหรี่​ให้​เด็ดขาด!

ศาสตราจารย์​โบ ลุนด์แบก แห่ง​สถาบัน​ชีวิต​การ​ทำ​งาน​แห่ง​ชาติ​ใน​กรุง​สตอกโฮล์ม ประเทศ​สวีเดน เตือน​ว่า “ผู้​สูบ​บุหรี่​ทุก​คน​ต้อง​พยายาม​เลิก​สูบ​บุหรี่. ถ้า​คุณ​เลิก​ได้​แล้ว อย่า​หวน​กลับ​ไป​สูบ​อีก​เด็ดขาด.” เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​คน​ที่​เลิก​สูบ​บุหรี่​แล้ว​หวน​กลับ​ไป​สูบ​อีก​อาจ​ประสบ​ภาวะ​ปอด​เสื่อม​สมรรถนะ​เร็ว​กว่า​คน​ที่​ไม่​เคย​เลิก​สูบ. การ​ศึกษา​วิจัย​เป็น​เวลา​สิบ​ปี​ที่​ทำ​กับ​ชาย​หญิง 1,116 คน​อายุ​ระหว่าง 35 ถึง 68 ปี​แสดง​ว่า คน​ที่​สูบ​บุหรี่​ตลอด​ช่วง​เวลา​ดัง​กล่าว​ประสบ​ภาวะ​ปอด​เสื่อม​สมรรถนะ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะ​ที่​คน​ซึ่ง​เลิก​สูบ​เป็น​เวลา​กว่า​หนึ่ง​ปี​แล้ว​กลับ​มา​สูบ​อีก​ประสบ​ภาวะ​ดัง​กล่าว 5 เปอร์เซ็นต์. ศาสตราจารย์​ลุนด์แบก​เตือน​ว่า “การ​เสื่อม​สมรรถนะ​ของ​ปอด​เกิด​ขึ้น​เร็ว​มาก​ใน​ช่วง​สอง​สาม​ปี​แรก​หลัง​จาก​เริ่ม​สูบ​อีก และ​การ​เสื่อม​ที่​เกิด​ขึ้น​นั้น​ก็​ไม่​อาจ​รักษา​ได้.” หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า คน​ที่​เลิก​สูบ​บุหรี่​ได้​สำเร็จ​ใน​ช่วง​สิบ​ปี​ของ​การ​ศึกษา​ประสบ​ภาวะ​ปอด​เสื่อม​สมรรถนะ​เพียง 1 เปอร์เซ็นต์.