ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ผมแค่อยากไปรับจดหมายเท่านั้นเอง”

“ผมแค่อยากไปรับจดหมายเท่านั้นเอง”

“ผม​แค่​อยาก​ไป​รับ​จดหมาย​เท่า​นั้น​เอง”

ออนเดร ชาย​ผิว​ขาว​ซึ่ง​เกิด​ใน​แอฟริกา​ใต้​แต่​ขณะ​นั้น​อาศัย​อยู่​ใน​ประเทศ​นามิเบีย​เล่า​ว่า “ผม​จะ​ไม่​มี​ทาง​ลืม​เช้า​วัน​จันทร์​วัน​นั้น. ผม​ไป​ที่​ทำ​การ​ไปรษณีย์​ซึ่ง​มี​คน​แน่น​มาก. ผม​เห็น​กระเป๋า​ใบ​หนึ่ง​ดู​น่า​สงสัย​ถูก​วาง​ไว้​ใกล้ ๆ โดย​ไม่​มี​ใคร​เฝ้า. ผม​ขอ​รับ​จดหมาย​แล้ว​ก็​ออก​ไป. พอ​ขับ​รถ​มา​ได้​ประมาณ​สาม​นาที ผม​ก็​ได้​ยิน​เสียง​ระเบิด​ดัง​สนั่น. ต่อ​มา​ผม​จึง​ได้​รู้​ว่า​เกิด​การ​ระเบิด​ห่าง​จาก​จุด​ที่​ผม​ยืน​อยู่​ก่อน​หน้า​นั้น​เพียง​ไม่​กี่​ฟุต.”

ออนเดร​บอก​ว่า “ผม​แค่​อยาก​ไป​รับ​จดหมาย​เท่า​นั้น​เอง. แต่​พอ​รู้​ภาย​หลัง​ว่า​คน​บริสุทธิ์​หลาย​คน​ต้อง​มา​ตาย ผม​ก็​ตกตะลึง​เพราะ​มี​บาง​คน​ที่​ผม​รู้​จัก. ผม​ยัง​คง​รู้สึก​สยดสยอง​จน​ถึง​ตอน​นี้​ทั้ง ๆ ที่​เหตุ​การณ์​นั้น​เกิด​ขึ้น​เมื่อ 25 ปี​ที่​แล้ว. บาง​ครั้ง ผม​ยัง​คง​นึก​ถึง​ภาพ​ผู้​เสีย​ชีวิต​และ​ผู้​ได้​รับ​บาดเจ็บ และ​ตระหนัก​ว่า​ผม​เอง​ก็​เฉียด​ตาย.”

ปัญหา​ระดับ​โลก

แม้​ว่า​คุณ​อาจ​ไม่​เคย​เข้า​ไป​อยู่​ใกล้​การ​โจมตี​ขนาด​นั้น แต่​คุณ​คง​เคย​ได้​ยิน​ว่า​เหตุ​การณ์​ทำนอง​นี้​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ ตลอด​ทั่ว​โลก. มี​คน​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ หัน​ไป​ใช้​วิธี​การ​รุนแรง​เพื่อ​บรรลุ​จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​ตน ซึ่ง​โดย​ทั่ว​ไป​เรียก​กัน​ว่า​การ​ก่อ​การ​ร้าย.—ดู​กรอบ “ใคร​คือ​ผู้​ก่อ​การ​ร้าย?” ใน​หน้า​ถัด​ไป

ผู้​รายงาน​ข่าว​เชิง​สืบสวน​คน​หนึ่ง​พบ​ว่า​เมื่อ​ปี 1997 “มี​เพียง​สี่​ประเทศ​ที่​มี​การ​โจมตี​แบบ​พลี​ชีพ​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ยาว​นาน.” แต่​เมื่อ​ปี 2008 นัก​วิจัย​คน​เดียว​กัน​นี้​เขียน​ว่า “มาก​กว่า​สาม​สิบ​ประเทศ​ใน​ทุก​ทวีป​ยก​เว้น​ออสเตรเลีย​และ​แอนตาร์กติกา​ได้​ประสบ​ผล​เสียหาย​ที่​ร้ายแรง​ของ​การ​โจมตี​แบบ​พลี​ชีพ.” เขา​ลง​ความ​เห็น​ว่า “องค์กร​ต่าง ๆ จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใช้ [การ​โจมตี​วิธี​นี้] ซึ่ง​ล้าง​ผลาญ​ชีวิต​ผู้​คน​เพิ่ม​ขึ้น​ทุก​ปี.”—หนังสือ​การ​พลี​ชีพ​ที่​แพร่​ไป​ทั่ว​โลก (ภาษา​อังกฤษ)

ขอ​พิจารณา​การ​โจมตี​ที่​กล่าว​ถึง​ตอน​ต้น. กลุ่ม​ที่​รับผิดชอบ​การ​วาง​ระเบิด​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​นัก​ต่อ​สู้​เพื่อ​อิสรภาพ. พวก​เขา​พยายาม​ทำ​ให้​ประเทศ​ได้​รับ​เอกราช. แต่​อะไร​กระตุ้น​ให้​ผู้​คน​ทำ​เช่น​นั้น​เพื่อ​บรรลุ​เป้าหมาย​ของ​ตน? ขอ​พิจารณา​ประสบการณ์​ของ​ฮาเฟนี.

ฮาเฟนี​เกิด​ใน​แซมเบีย​และ​เติบโต​ใน​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย​ใน​ประเทศ​เพื่อน​บ้าน. เขา​บอก​ว่า “ผม​โกรธ​แค้น​มาก​ที่​ครอบครัว​ของ​ผม​และ​คน​อื่น ๆ ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​เลว​ร้าย​และ​ไม่​ยุติธรรม.” เขา​จึง​เข้า​ร่วม​ใน​กลุ่ม​นัก​รบ​ซึ่ง​พ่อ​กับ​แม่​ของ​เขา​เป็น​สมาชิก.

เมื่อ​มอง​ย้อน​ไป​ถึง​สมัย​นั้น ฮาเฟนี​เล่า​ต่อ​ไป​ว่า “เรื่อง​น่า​เศร้า​ที่​สุด​คือ​ผล​กระทบ​ทาง​อารมณ์​ของ​การ​อาศัย​อยู่​ใน​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย. เด็ก ๆ ถูก​พราก​ไป​จาก​พ่อ​แม่​พี่​น้อง. เด็ก​ที่​โต​พอ​ก็​ออก​ไป​สู้​รบ. เด็ก​เหล่า​นี้​หลาย​คน​ไม่​ได้​กลับ​มา​อีก​เลย. ผม​ไม่​เคย​เห็น​พ่อ แม้​แต่​รูป​ก็​ไม่​เคย​เห็น. เท่า​ที่​ผม​รู้ พ่อ​เสีย​ชีวิต​ใน​การ​สู้​รบ. ผม​ยัง​คง​มี​บาดแผล​ทาง​อารมณ์​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้.”

เห็น​ได้​ชัด นี่​เป็น​เรื่อง​ซับซ้อน. การ​เข้าใจ​ประเด็น​เหล่า​นี้​ดี​ขึ้น​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​รู้​ว่า​ต้อง​มี​การ​ทำ​อะไร​เพื่อ​ความ​รุนแรง​ที่​กล่าว​มา​จะ​สิ้น​สุด​ลง.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 4]

ใคร​คือ​ผู้​ก่อ​การ​ร้าย?

นัก​วิจัย​ชื่อ​มาร์ก เจอร์เกนสไมเยอร์​อธิบาย​ว่า “จะ​เรียก​การ​กระทำ​ที่​รุนแรง​ว่า ‘ก่อ​การ​ร้าย’ หรือ​ไม่​ก็​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​คน​นั้น​มอง​ว่า​การ​กระทำ​ดัง​กล่าว​มี​เหตุ​ผล​อัน​ควร​หรือ​ไม่. ส่วน​ใหญ่​แล้ว การ​ใช้​คำ​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​ทัศนะ​ของ​เขา​ต่อ​สภาพการณ์​ใน​โลก ถ้า​เขา​คิด​ว่า​โลก​มี​ความ​สงบ​สุข เขา​จะ​ถือ​ว่า​การ​กระทำ​ที่​รุนแรง​นั้น​เป็น​การ​ก่อ​การ​ร้าย. แต่​ถ้า​เขา​คิด​ว่า​โลก​อยู่​ใน​ภาวะ​สงคราม เขา​จะ​ถือ​ว่า​การ​กระทำ​นั้น​มี​เหตุ​ผล​อัน​ควร​แล้ว.”

ดัง​นั้น เมื่อ​มี​การ​ใช้​คำ “ก่อ​การ​ร้าย” นั่น​ก็​มัก​จะ​มี​นัย​ทาง​การ​เมือง. หลาย​กลุ่ม​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​นัก​ต่อ​สู้​เพื่อ​อิสรภาพ ไม่​ใช่​ผู้​ก่อ​การ​ร้าย. นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า​การ​ก่อ​การ​ร้าย​เกี่ยว​ข้อง​กับ (1) การ​กระทำ​ที่​มุ่ง​เป้า​ไป​ที่​พลเรือน​ซึ่ง​ไม่​มี​ส่วน​ใน​การ​ต่อ​สู้ และ (2) ใช้​ความ​รุนแรง​เพื่อ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​กลัว. ด้วย​เหตุ​นี้ กลุ่ม​กอง​กำลัง​ต่าง ๆ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ผู้​ต่อ​ต้าน​รัฐบาล​หรือ​ตัว​รัฐบาล​เอง อาจ​ใช้​ยุทธวิธี​ก่อ​การ​ร้าย​บ่อย ๆ.