ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 มีผู้ออกแบบไหม?

ระบบสืบพันธุ์ของกบแกสตริกบรูดดิ้ง

ระบบสืบพันธุ์ของกบแกสตริกบรูดดิ้ง

เชื่อกันว่ากบแกสตริกบรูดดิ้งในออสเตรเลียสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 พวกมันมีวิธีแพร่พันธุ์ที่ประหลาดมาก กบตัวเมียจะกลืนไข่ที่ปฏิสนธิแล้วลงไปในกระเพาะ แล้วไข่ก็จะฟักตัวอยู่ในท้องของแม่ ประมาณ 6 สัปดาห์หลังจากนั้น ลูก ๆ ก็จะกระโดดออกมาจากปากแม่กบ

เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ถูกย่อยในกระเพาะอาหาร แม่กบจะไม่กินอะไรเลยตลอดช่วงเวลาที่ฟักไข่ กระเพาะของมันจะได้ไม่สร้างน้ำกรดออกมา นอกจากนี้ สารเคมีที่ถูกปล่อยออกมาจากไข่และการฟักไข่ก็ช่วยยับยั้งไม่ให้กระเพาะอาหารของแม่สร้างน้ำกรดด้วย

แม่กบจะฟักไข่ประมาณ 24 ฟอง พอถึงตอนที่มันออกลูก เจ้ากบน้อยเหล่านี้จะมีน้ำหนักรวมกันประมาณเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวแม่กบเลยทีเดียว ถ้าจะให้เข้าใจชัดขึ้น ก็อาจเทียบกับผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัมตอนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งต้องอุ้มท้องลูก 24 คนที่หนักคนละ 1.8 กิโลกรัม! ลูกกบตัวน้อย ๆ พวกนั้นจะเบียดเสียดกันอยู่ในกระเพาะของแม่จนถึงกับไปบีบอัดปอดของแม่ ทำให้แม่กบต้องหายใจทางผิวหนังแทน

ปกติแล้วลูกกบจะค่อย ๆ ทยอยกันออกมาจากท้องแม่ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะออกมาหมดทุกตัว แต่ถ้าแม่กบรู้สึกอึดอัดและรู้ว่ามีอันตราย มันก็จะอาเจียนให้ลูกออกมา นักวิจัยเคยเห็นแม่กบตัวหนึ่งอาเจียนลูกออกมาทีเดียว 6 ตัว ลูกของมันพุ่งไปกลางอากาศไกลถึง 1 เมตร

บางคนอ้างว่าระบบสืบพันธุ์ของกบชนิดนี้มาจากวิวัฒนาการ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง พวกมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องใหม่หมดทันทีทั้งรูปร่างและพฤติกรรมการเลี้ยงลูก ไมเคิล เจ. ไทเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการเขียนไว้ว่า “พฤติกรรมของพวกมันถ้าไม่สุดยอดไปเลย ก็ต้องแย่สุด ๆ เพราะมันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่จะคิดว่าชีววิทยาระบบสืบพันธุ์ของกบชนิดนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แล้วค่อยพัฒนาเป็นขั้น ๆ” ไทเลอร์บอกอีกด้วยว่า คำอธิบายเดียวที่ฟังดูมีเหตุผลคือ ระบบสืบพันธุ์ของกบแกสตริกบรูดดิ้งเกิดขึ้นแบบ “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียว” บางคนก็คิดว่าก้าวกระโดดครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวนั้น ก็คือการสร้างนั่นเอง *

คุณคิดอย่างไร? ระบบสืบพันธุ์ของกบแกสตริกบรูดดิ้งเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?

^ วรรค 7 ในหนังสือกำเนิดสปีชีส์ (ภาษาอังกฤษ) ของชาลส์ ดาร์วินเขียนว่า “การคัดเลือกโดยธรรมชาติเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันไม่มีทาง . . . กระโดดข้ามขั้นได้”