ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงรับการปลอบโยน จงปลอบโยนผู้อื่น

จงรับการปลอบโยน จงปลอบโยนผู้อื่น

เนื่องจากเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราทุกคนเจ็บป่วย และบางคนป่วยหนัก. เมื่อเราประสบปัญหาแบบนี้ เรารับมืออย่างไร?

สิ่งหนึ่งที่ช่วยเราได้มากในการรับมือปัญหานี้คือการปลอบโยนที่เราได้รับจากครอบครัว เพื่อนๆ และพี่น้องคริสเตียน.

คำพูดที่กรุณาและเปี่ยมด้วยความรักของเพื่อนอาจเป็นเหมือนยาชโลมใจที่ทำให้เราสดชื่นขึ้น. (สุภา. 16:24; 18:24; 25:11) แต่คริสเตียนแท้ไม่ห่วงเพียงแค่ตัวเขาเองเท่านั้นที่ต้องได้รับการปลอบโยน. พวกเขาริเริ่มที่จะ “ชูใจคนที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบากต่างๆ” ด้วยคำปลอบโยนที่พวกเขาเองได้รับจากพระเจ้า. (2 โค. 1:4; ลูกา 6:31) อันโทนิโอ ผู้ดูแลภาคซึ่งอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก เรียนรู้เรื่องนี้จากประสบการณ์ของเขาเอง.

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อันโทนิโอรู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่ง. ถึงกระนั้น เขาพยายามอย่างมากที่จะควบคุมความรู้สึกในแง่ลบ. เขาทำอย่างไร? เขาพยายามจำเพลงราชอาณาจักรและร้องเพลงเหล่านั้นเพื่อจะได้ยินและใคร่ครวญเนื้อความในเพลงเหล่านั้น. การอธิษฐานโดยออกเสียงและการอ่านคัมภีร์ไบเบิลก็ช่วยให้เขาได้รับการชูใจอย่างมากด้วย.

แต่อันโทนิโอตระหนักว่าความช่วยเหลืออย่างหนึ่งที่ช่วยเขาได้มากจริงๆนั้นมาจากเพื่อนร่วมความเชื่อ. เขากล่าวว่า “เมื่อผมกับภรรยารู้สึกกระวนกระวายใจ เราก็จะขอญาติคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปกครองให้มาหาและอธิษฐานด้วยกันกับเรา. การทำอย่างนี้ช่วยให้เรามีกำลังใจและทำให้เรารู้สึกสงบใจ.” เขายังกล่าวอีกด้วยว่า “ที่จริง เราสามารถเอาชนะความรู้สึกในแง่ลบได้ในเวลาค่อนข้างสั้นเพราะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและพี่น้องฝ่ายวิญญาณ.” เขารู้สึกขอบคุณจริงๆที่เพื่อนๆเหล่านั้นแสดงความห่วงใยและความรักต่อเขา!

ความช่วยเหลืออีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเราได้ในยามทุกข์ยากคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานแก่เรา. อัครสาวกเปโตรกล่าวว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเป็น “ของประทาน.” (กิจ. 2:38) แน่นอนว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆเมื่อพระเจ้าทรงเทพระวิญญาณบริสุทธิ์เจิมคริสเตียนจำนวนมากในวันเพนเทคอสต์ สากลศักราช 33. แม้ว่าเปโตรกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหล่าผู้ถูกเจิม แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทานสำหรับเราทุกคนด้วย. ของประทานนี้มีมากมายไม่รู้หมดสิ้น เราจึงควรอธิษฐานขอพระวิญญาณจากพระเจ้าอยู่เสมอมิใช่หรือ?—ยซา. 40:28-31

จงแสดงความสนใจต่อคนที่ทนทุกข์

อัครสาวกเปาโลอดทนความยากลำบากมากมาย และบางครั้งก็ถึงกับเกือบเอาชีวิตไม่รอด. (2 โค. 1:8-10) ถึงกระนั้น เปาโลไม่กลัวตาย. ท่านมีกำลังใจที่รู้ว่าท่านได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้า. ท่านเขียนว่า “ขอให้พระองค์ผู้เป็นพระเจ้าและพระบิดาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราได้รับการสรรเสริญ พระองค์เป็นพระบิดาแห่งความเมตตากรุณาและเป็นพระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง ผู้ทรงชูใจเราทุกครั้งที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบาก.” (2 โค. 1:3, 4) เปาโลไม่จมอยู่กับความสงสารตัวเอง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความลำบากที่ท่านประสบช่วยท่านให้พัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ท่านจึงพร้อมยิ่งขึ้นที่จะปลอบโยนคนอื่นๆ.

หลังจากหายป่วย อันโทนิโอสามารถกลับไปทำงานเป็นผู้ดูแลเดินทาง. เมื่อก่อนเขาแสดงความสนใจต่อเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นประจำอยู่แล้ว แต่หลังจากหายป่วยแล้วเขากับภรรยาพยายามเป็นพิเศษที่จะเยี่ยมและหนุนใจพี่น้องที่เจ็บป่วย. ตัวอย่างเช่น หลังจากเยี่ยมพี่น้องคนหนึ่งที่กำลังสู้กับความเจ็บป่วยร้ายแรง อันโทนิโอก็รู้ว่าพี่น้องชายคนนี้ไม่อยากไปประชุม. อันโทนิโออธิบายว่า “ไม่ใช่ว่าเขาไม่รักพระยะโฮวาหรือไม่รักพี่น้อง แต่ความเจ็บป่วยมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเขาอย่างมากจนเขารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า.”

สิ่งหนึ่งที่อันโทนิโอได้ทำเพื่อหนุนใจพี่น้องที่ป่วยคนนี้ก็คือเชิญเขาให้อธิษฐานในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้. แม้ว่าพี่น้องคนนี้รู้สึกว่าตัวเขาเองไม่มีความสามารถพอ แต่เขาก็ตอบรับ. อันโทนิโอเล่าว่า “เขาอธิษฐานได้ดีมากๆ แล้วหลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นคนละคนเลย. เขารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง.”

จริงทีเดียว เราทุกคนเคยประสบความทุกข์ยากบางอย่างไม่มากก็น้อย. แต่ดังที่เปาโลกล่าว ประสบการณ์นั้นอาจช่วยเราให้พร้อมที่จะปลอบโยนคนอื่นๆ. ด้วยเหตุนั้น ขอให้เราตื่นตัวเพื่อจะสังเกตเห็นความทุกข์ลำบากที่เพื่อนคริสเตียนของเราประสบ และเลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้าด้วยการปลอบโยนคนอื่นๆ.