ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พวกเขาเต็มใจไปรับใช้ที่แอฟริกาตะวันตก

พวกเขาเต็มใจไปรับใช้ที่แอฟริกาตะวันตก

ปาสคาลเติบโตมาในย่านคนจนในประเทศโกตดิวัวร์ เขาใฝ่ฝันอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาเป็นนักมวยสมัครเล่นที่อยากมีชื่อเสียงและร่ำรวย เมื่ออายุราวๆ 25 ปี เขาก็คิดว่าต้องไปยุโรปให้ได้เพื่อความฝันของเขาจะเป็นจริง แต่เพราะไม่มีวีซ่า เขาจึงต้องเข้ายุโรปด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย

ในปี 1998 เมื่ออายุได้ 27 ปี ปาสคาลเริ่มออกเดินทางตามแผนที่วางไว้ เขาข้ามชายแดนเข้าไปในประเทศกานา ผ่านประเทศโตโกและประเทศเบนิน ในที่สุดก็มาถึงเมืองบีร์นี นโคนนี ประเทศไนเจอร์ ต่อจากนี้เป็นช่วงที่อันตรายที่สุดของการเดินทาง เขาวางแผนว่าจะขึ้นไปทางเหนือโดยโบกรถบรรทุกขอโดยสารข้ามทะเลทรายสะฮารา และเมื่อถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เขาก็จะนั่งเรือข้ามไปทวีปยุโรป แต่ยังไม่ทันจะไปจากไนเจอร์ มีเหตุการณ์สองอย่างที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นที่ทำให้แผนการของเขาต้องหยุดชะงัก

อย่างแรก เงินของเขาหมด อย่างที่สอง เขาพบไพโอเนียร์คนหนึ่งชื่อโนเอ ซึ่งได้สอนพระคัมภีร์ให้เขา สิ่งที่ได้เรียนทำให้ปาสคาลประทับใจมากถึงกับเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตใหม่ เขาเลิกคิดที่จะมีชื่อเสียงเงินทองแล้วหันมาสนใจเรื่องพระเจ้า ปาสคาลรับบัพติสมาในเดือนธันวาคมปี 1999 ต่อมา ในปี 2001 เขาอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อขอบคุณพระยะโฮวา เขาจึงเริ่มเป็นไพโอเนียร์ที่ประเทศไนเจอร์ ในเมืองที่เขาได้เรียนความจริงนั่นเอง เขารู้สึกอย่างไรกับการเป็นไพโอเนียร์? เขาบอกว่า “ตอนนี้ ผมมีชีวิตที่ดีที่สุดแล้ว!”

มีความสุขมากกว่าเมื่อย้ายมาที่แอฟริกา

เช่นเดียวกับปาสคาล หลายคนมีความสุขมากขึ้นเมื่อทุ่มเทชีวิตเพื่อรับใช้พระเจ้า บางคนย้ายจากยุโรปไปแอฟริกาเพื่อรับใช้ในประเทศที่ต้องการผู้ประกาศมากกว่า มีพยานจากยุโรปประมาณ 65 คน อายุระหว่าง 17 ถึง 70 ปี ย้ายมารับใช้ในประเทศเบนิน บูร์กินาฟาโซ ไนเจอร์ และโตโก ซึ่งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก * อะไรทำให้พวกเขาตัดสินใจอย่างนั้น และผลเป็นอย่างไร?

เอเน-เรเคล จากเดนมาร์กเล่าว่า “พ่อแม่ฉันเคยเป็นมิชชันนารีที่ประเทศเซเนกัล ท่านทั้งสองชอบเล่าเรื่องชีวิตมิชชันนารีให้ฟังบ่อยฉันเลยอยากใช้ชีวิตแบบนั้นบ้าง” ราวๆ 15 ปีที่แล้ว ตอนที่เอเน-เรเคลอายุยี่สิบเศษเธอย้ายไปประเทศโตโก และรับใช้ในประชาคมภาษามือ การที่เธอ ย้ายไปที่นั่นมีผลต่อคนอื่นอย่างไร? เธอบอกว่า “หลังจากนั้น น้องสาวกับน้องชายฉันก็ย้ายไปรับใช้ที่โตโกด้วย”

ออเรียล พี่น้องชายชาวฝรั่งเศสวัย 70 ที่แต่งงานแล้ว เล่าว่า “เมื่อห้าปีก่อน ตอนที่ผมเกษียณอายุ ผมมีทางเลือกสองทาง คือใช้ชีวิตอย่างสงบในฝรั่งเศสและรอให้อุทยานมาถึง หรือย้ายไปที่อื่นเพื่อรับใช้มากขึ้น” ออเรียลเลือกอย่างหลัง ประมาณสามปีที่แล้ว เขากับภรรยาชื่ออัลแบร์-เฟแยตต์ย้ายไปเบนิน ออเรียลกล่าวว่า “การได้ย้ายมาที่นี่และรับใช้พระยะโฮวามากขึ้นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา” เขายิ้มแล้วก็พูดต่อว่า “จริงแล้วเขตงานของเราแถบชายฝั่งมหาสมุทรก็สวยเหมือนอุทยานเลยล่ะ”

โคลโดเมียร์กับลีเชียน ย้ายจากฝรั่งเศสไปเบนิน 16 ปีแล้ว ช่วงแรกทั้งสองคิดถึงครอบครัวและเพื่อนที่ฝรั่งเศสมาก และยังกลัวด้วยว่าจะปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ที่เบนินไม่ได้ แต่จริงแล้วไม่มีอะไรน่ากลัวเลย ทั้งสองมีความสุขมาก โคลโดเมียร์บอกว่า “ตลอด 16 ปีที่ผ่านไป เรามีโอกาสช่วยหลายคนให้มารับใช้พระเจ้า เฉลี่ยแล้วปีละหนึ่งคน”

เซบาสเตียงและชูอันนา คู่สมรสชาวฝรั่งเศส ได้ย้ายไปเบนิน ในปี 2010 เซบาสเตียงบอกว่า “มีงานเยอะแยะให้ทำในประชาคม การรับใช้ที่นี่เป็นเหมือนกับการเข้าเรียนในหลักสูตรเร่งรัดที่องค์การจัดให้!” การประกาศที่นั่นเป็นอย่างไร? ชูอันนาบอกว่า “ผู้คนสนใจเรื่องพระเจ้ามาก แม้ไม่ใช่เวลาที่เราออกประกาศ หลายคนก็ยังอยากคุยกับเราและถามเรื่องพระคัมภีร์ แล้วก็ขอหนังสือ” การย้ายไปอยู่ที่นั่นทำให้ชีวิตแต่งงานของทั้งคู่เป็นอย่างไร? เซบาสเตียงบอกว่า “เราใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าเดิม ผมกับภรรยามีความสุขที่ได้รับใช้ด้วยกันทั้งวัน”

เอริกกับคาที สามีภรรยาคู่นี้เป็นไพโอเนียร์อยู่ทางภาคเหนือของเบนิน ซึ่งมีประชากรไม่มาก ตอนที่ทั้งสองอยู่ในฝรั่งเศสเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว พวกเขาเริ่มอ่านบทความเกี่ยวกับการรับใช้ในที่ที่มีความจำเป็นมากกว่าและได้พูดคุยกับผู้รับใช้เต็มเวลาหลายคน ทำให้ทั้งสองอยากย้ายไปรับใช้ในต่างประเทศ ในที่สุด พวกเขาก็ย้ายไปเบนินในปี 2005 ทั้งสองได้เห็นการเติบโตที่น่าประทับใจ เอริกบอกว่า “สองปีที่แล้ว กลุ่มของเราในเมืองทันกีเอตามีผู้ประกาศแค่ 9 คน แต่ตอนนี้เรามีผู้ประกาศถึง 30 คน ผู้เข้าร่วมประชุมในวันอาทิตย์ 50 ถึง 80 คน เรามีความสุขมากที่ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างนี้!”

 เอาชนะอุปสรรค

พี่น้องบางคนที่ย้ายไปรับใช้ในต่างประเทศเจออุปสรรคอะไรบ้าง? เบนยามิน อายุ 33 ปี เป็นน้องชายของเอเน-เรเคล ในปี 2000 ตอนที่ยังอยู่เดนมาร์ก เขาพบมิชชันนารีคนหนึ่งที่รับใช้ในประเทศโตโก เบนยามินเล่าว่า “ผมบอกมิชชันนารีคนนี้ว่าผมอยากเป็นไพโอเนียร์ เขาก็พูดว่า ‘เธอไปเป็นไพโอเนียร์ที่โตโกได้นะ’” เบนยามินเอาคำพูดนี้มาคิด เขาบอกว่า “ตอนนั้นผมอายุยังไม่ถึง 20 ด้วยซ้ำ แต่พี่สาวผมสองคนรับใช้ที่โตโก อยู่แล้ว ถ้าผมจะไปที่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร” เขาจึงตัดสินใจย้ายไป แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่ดี เบนยามินบอกว่า “ผมไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสสักคำ หกเดือนแรกที่อยู่ที่นั่นลำบากมากเพราะผมคุยกับใครไม่รู้เรื่องเลย” แต่หลังจากนั้น เขาก็พูดภาษาฝรั่งเศสได้ ตอนนี้ เบนยามินรับใช้ที่เบเธลประเทศเบนิน ทำงานจัดส่งหนังสือและช่วยแผนกคอมพิวเตอร์

ก่อนจะย้ายไปเบนิน เอริกกับคาที ที่กล่าวถึงในตอนต้น เคยรับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศในฝรั่งเศส ชีวิตในแอฟริกาตะวันตกต่างจากฝรั่งเศสอย่างไร? คาทีบอกว่า “บ้านเช่าดีหายากมาก เราต้องอยู่ในบ้านที่ไม่มีไฟฟ้าและไม่มีน้ำประปาอยู่หลายเดือน” เอริกเสริมว่า “แค่นั้นยังไม่พอ เพื่อนบ้านของเรายังชอบเปิดเพลงดังลั่นจนดึกดื่น เราต้องทนกับเรื่องแบบนี้และต้องพร้อมจะปรับตัว” แต่ทั้งสองบอกว่า “ความลำบากที่เราเจอไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความสุขอันยิ่งใหญ่ที่ได้มารับใช้ในเขตที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินข่าวดีเรื่องพระเจ้ามาก่อน”

มิเชลและมารีแยน คู่สมรสจากฝรั่งเศสซึ่งอายุเกือบ 60 ปีได้ย้ายไปเบนิน เมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว ตอนแรกพวกเขากังวลมาก มิเชลเล่าว่า “บางคนบอกว่าเราเสี่ยงมากที่คิดจะย้าย เหมือนกับเรากำลังนั่งอยู่ในรถเข็นล้อเดียวที่นักไต่เชือกกำลังเข็นอยู่ ฟังดูน่ากลัว แต่เราไม่กลัวหรอก เพราะเรารู้ว่านักไต่เชือกนั้นคือพระยะโฮวา ดังนั้น เราย้ายไปเพื่อ พระยะโฮวาและไปกับ พระยะโฮวา”

เตรียมตัวให้พร้อม

คนที่มีประสบการณ์ในการรับใช้ในต่างแดนบอกว่า สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวให้พร้อม วางแผนให้ดี เรียนรู้ที่จะปรับตัว อย่าใช้เงินเกินงบ และไว้ใจพระยะโฮวา—ลูกา 14:28-30

เซบาสเตียง ซึ่งกล่าวถึงในตอนต้น เล่าว่า “ก่อนจะย้าย ผมกับชูอันนาเก็บเงินอยู่สองปี เราพยายามประหยัดและตัดค่า ใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป” ทุกปีทั้งคู่จะกลับไปทำงานที่ยุโรปสองสามเดือนและกลับมาเป็นไพโอเนียร์ที่เบนินอีก

มารี-เตแรส

มารี-เตแรส เป็นพี่น้องหญิงโสดคนหนึ่งในจำนวนทั้งหมดประมาณ 20 คนที่ย้ายมารับใช้ในแอฟริกาตะวันตก เธอทำงานเป็นคนขับรถเมล์ในฝรั่งเศส แต่ในปี 2006 เธอลาหยุดงานหนึ่งปีเพื่อไปเป็นไพโอเนียร์ที่ประเทศไนเจอร์ หลังจากอยู่ที่นั่นไม่นานเธอก็รู้ว่าชีวิตแบบนี้แหละที่เธอต้องการ มารี-เตแรส เล่าว่า “หลังจากกลับฝรั่งเศสแล้ว ฉันไปคุยกับเจ้านายว่าอยากปรับเวลาทำงาน เขาก็อนุญาต ตอนนี้ ฉันทำงานในฝรั่งเศสตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิงหาคม และเป็นไพโอเนียร์ในประเทศไนเจอร์เดือนกันยายนจนถึงเมษายน”

คนที่ ‘แสวงหาราชอาณาจักรก่อน’ มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะ ‘ให้สิ่งทั้งปวงที่จำเป็น’ แก่เขา (มัด. 6:33) ตัวอย่างเช่น ซาฟีรา พี่น้องหญิงโสดอายุ 20 กว่าจากฝรั่งเศสที่ไปเป็นไพโอเนียร์ในเบนิน หลังจากอยู่ที่นั่นได้ห้าปี เธอกลับไปทำงานที่ฝรั่งเศสในปี 2011 เพื่อจะเก็บเงินไปอยู่เบนินได้อีกหนึ่งปี ซาฟีราเล่าว่า “วันนั้นเป็นวันศุกร์ และเป็นวันสุดท้ายของการทำงาน แต่ฉันยังได้เงินไม่พอสำหรับหนึ่งปีข้างหน้า ต้องทำงานเพิ่มอีกสิบวัน เวลาที่จะอยู่ในฝรั่งเศสก็เหลืออีกแค่สองอาทิตย์ ฉันอธิษฐานถึงพระยะโฮวา เล่าปัญหาของฉันให้พระองค์ฟัง ไม่นาน บริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งก็โทรมาถามฉันว่าจะไปทำงานแทนคนงานคนหนึ่งเป็นเวลาสองอาทิตย์ได้ไหม” ในวันจันทร์ซาฟีราก็ไปเริ่มงานใหม่ และคนที่เธอจะทำงานแทนก็ช่วยฝึกงานให้ เธอเล่าว่า “ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนที่ต้องการหยุดงานสิบวันเป็นพี่น้องของเราที่ขอลางานเพื่อไปเข้าโรงเรียนไพโอเนียร์! เจ้านายไม่ยอมให้เธอลาถ้าไม่มีคนมาทำงานแทน เธอก็เลยอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยเหมือนกับที่ฉันอธิษฐาน”

งานที่ทำให้สุขใจจริง

พี่น้องบางคนย้ายไปรับใช้ในแอฟริกาตะวันตกเป็นเวลาหลายปีจนที่นั่นกลายเป็นบ้านของพวกเขา ส่วนบางคนอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ต้องกลับประเทศของตน แต่ประสบการณ์ที่ได้จากการรับใช้ในต่างแดนก็ยังเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาจนถึงทุกวันนี้ พวกเขาได้เรียนรู้ว่าการรับใช้พระยะโฮวาทำให้สุขใจจริง

^ วรรค 6 สำนักงานสาขาเบนินดูแลงานในสี่ประเทศนี้ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศส