ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณรู้ไหม?

คุณรู้ไหม?

คุณ​รู้​ไหม?

ทำไม​พระ​เยซู​จึง​เรียก​พระ​ยะโฮวา​ว่า “อับบา พระ​บิดา” ใน​คำ​อธิษฐาน?

คำ​ว่า อับบา ใน​ภาษา​อาระเมอิก​มี​ความ​หมาย​ว่า “พ่อ.” มี​การ​ใช้​คำ​นี้​สาม​ครั้ง​ใน​พระ​คัมภีร์ และ​แต่​ละ​ครั้ง​จะ​ปรากฏ​ใน​คำ​อธิษฐาน​และ​ใช้​หมาย​ถึง​พระ​ยะโฮวา พระ​บิดา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์. คำ​นี้​มี​นัย​สำคัญ​อย่าง​ไร?

สารานุกรม​ดิ อินเตอร์​แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล กล่าว​ว่า “ใน​สำนวน​ภาษา​พูด​ทั่ว​ไป​สมัย​พระ​เยซู คำ​ว่า อับบา โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว​เป็น​คำ​ที่​บุตร​ใช้​เรียก​บิดา​เพื่อ​แสดง​ความ​สนิทสนม​และ​ความ​นับถือ.” เป็น​คำ​เรียก​ที่​แสดง​ความ​รักใคร่​และ​เป็น​คำ​แรก ๆ ที่​เด็ก​หัด​พูด. พระ​เยซู​ทรง​ใช้​คำ​นี้​ใน​คำ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​บิดา​ซึ่ง​พระองค์​กล่าว​ด้วย​ความ​รู้สึก​แรง​กล้า​อย่าง​ยิ่ง. ใน​สวน​เกทเซมาเน เพียง​ไม่​กี่​ชั่วโมง​ก่อน​ที่​พระ​เยซู​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์ พระองค์​ทรง​เรียก​พระ​ยะโฮวา​ใน​คำ​อธิษฐาน​ว่า “อับบา พระ​บิดา.”—มาระโก 14:36

สารานุกรม​เล่ม​เดียว​กัน​นี้​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “ใน​วรรณกรรม​ของ​ชาว​ยิว​ยุค​กรีก-โรมัน​แทบ​จะ​ไม่​มี​กรณี​ใด​เลย​ที่​มี​การ​เรียก​พระเจ้า​ว่า อับบา ซึ่ง​ก็​คง​เป็น​เพราะ​การ​เรียก​พระเจ้า​ด้วย​คำ​ที่​แสดง​ความ​สนิทสนม​คุ้น​เคย​เช่น​นั้น​ดู​เหมือน​เป็น​การ​ไม่​ให้​เกียรติ​พระองค์.” อย่าง​ไร​ก็​ดี “การ​ที่​พระ​เยซู​ทรง . . . ใช้​คำ​นี้​ใน​การ​อธิษฐาน​เป็น​การ​ยืน​ยัน​ทาง​อ้อม​ถึง​คำ​อ้าง​ของ​พระองค์​ที่​ว่า​ทรง​มี​ความ​ใกล้​ชิด​สนิทสนม​เป็น​พิเศษ​กับ​พระเจ้า.” คำ​ว่า “อับบา” อีก​สอง​ครั้ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​ปรากฏ​อยู่​ใน​จดหมาย​ของ​ท่าน​เปาโล​ทั้ง​สอง​ครั้ง แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ก็​ใช้​คำ​นี้​ใน​คำ​อธิษฐาน​เช่น​เดียว​กัน.—โรม 8:15; กาลาเทีย 4:6

ทำไม​ส่วน​หนึ่ง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​เขียน​เป็น​ภาษา​กรีก?

อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ว่า “พระเจ้า​ทรง​ฝาก​ถ้อย​คำ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์” ไว้​กับ​ชาว​ยิว. (โรม 3:1, 2) ดัง​นั้น ส่วน​ใหญ่​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาค​แรก​จึง​เขียน​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ของ​ชาว​ยิว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​การ​เขียน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​เป็น​ภาษา​กรีก. * ทำไม​จึง​เป็น​เช่น​นั้น?

ใน​ศตวรรษ​ที่​สี่​ก่อน​สากล​ศักราช มี​ภาษา​ถิ่น​กรีก​โบราณ​หลาย​ภาษา​ที่​พูด​กัน​ใน​หมู่​ทหาร​ของ​อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​และ​ได้​รวม​เข้า​ด้วย​กัน​จน​กลาย​เป็น​ภาษา​คีนี​หรือ​ภาษา​กรีก​สามัญ. ชัย​ชนะ​ของ​อะเล็กซานเดอร์​เหนือ​ดินแดน​ต่าง ๆ มี​ส่วน​ทำ​ให้​ภาษา​คีนี​กลาย​เป็น​ภาษา​สากล​ของ​สมัย​นั้น. ชาว​ยิว​ได้​กระจัด​กระจาย​ไป​อยู่​ใน​ดินแดน​ต่าง ๆ นอก​เขต​ปาเลสไตน์​ตั้ง​แต่​ก่อน​ที่​กองทัพ​ของ​กรีก​จะ​เริ่ม​พิชิต​ดินแดน​ต่าง ๆ. ก่อน​หน้า​นั้น​พวก​เขา​ถูก​เนรเทศ​ไป​ยัง​บาบิโลน​เมื่อ​ปี 607 ก่อน​สากล​ศักราช. แต่​หลัง​จาก​ได้​รับ​การ​ปลด​ปล่อย​แล้ว มี​ชาว​ยิว​จำนวน​มาก​ที่​ไม่​ได้​กลับ​ไป​ยัง​ปาเลสไตน์. ผล​คือ ใน​ที่​สุด​ชาว​ยิว​มาก​มาย​จึง​ลืม​ภาษา​ฮีบรู​ดั้งเดิม​และ​หัน​ไป​พูด​ภาษา​กรีก​แทน. (กิจการ 6:1) เพื่อ​ช่วย​ให้​คน​เหล่า​นี้​ได้​รับ​ประโยชน์ จึง​มี​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​กรีก ซึ่ง​เรียก​ว่า​ฉบับ​เซปตัวจินต์.

พจนานุกรม​ภาษา​ฝรั่งเศส​ชื่อ​ดิกซิยอนแนร์ เดอ ลา บิบเบลอ กล่าว​ว่า ไม่​มี​ภาษา​ใด​ที่ “ร่ำรวย​ด้วย​คำ​ศัพท์, ปรับ​เปลี่ยน​ได้​ง่าย, และ​มี​ความ​เป็น​สากล เหมาะ​กับ​ผู้​คน​หลาก​หลาย​เชื้อชาติ​เหมือน​กับ​ภาษา​กรีก.” เนื่อง​จาก​ภาษา​กรีก​เป็น​ภาษา​ที่​มี​คำ​ศัพท์​มาก​และ​มี​ความ​หมาย​ชัดเจน มี​ไวยากรณ์​ที่​ละเอียด และ​มี​คำ​กริยา​ซึ่ง​ใช้​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ที่​แฝง​อยู่​ได้​อย่าง​เหมาะ​สม ภาษา​นี้​จึง​เป็น “ภาษา​แห่ง​การ​สื่อสาร​และ​การ​กระจาย​ข่าวสาร—อย่าง​ที่​ศาสนา​คริสเตียน​ต้องการ​ทุก​ประการ.” นับ​ว่า​เหมาะ​สม​แล้ว​มิ​ใช่​หรือ​ที่​มี​การ​เขียน​ข่าวสาร​ของ​คริสเตียน​เป็น​ภาษา​กรีก?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 บาง​ส่วน​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ที่​เป็น​ส่วน​สั้น ๆ เขียน​ขึ้น​ใน​ภาษา​อาระเมอิก. ดู​เหมือน​ว่า กิตติคุณ​ของ​มัดธาย​เขียน​ขึ้น​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ก่อน แล้ว​จึง​อาจ​มี​การ​แปล​เป็น​ภาษา​กรีก​โดย​มัดธาย​เอง​ใน​ภาย​หลัง.

[ภาพ​หน้า 13]

ชิ้น​ส่วน​ของ​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​เซปตัวจินต์

[ที่​มา​ของ​ภาพ 13]

Courtesy of Israel Antiquities Authority