ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณเข้าใจความหมายของภาพพจน์ในคัมภีร์ไบเบิลไหม?

คุณเข้าใจความหมายของภาพพจน์ในคัมภีร์ไบเบิลไหม?

คุณ​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​ภาพพจน์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?

ภาพ​หนึ่ง​ภาพ​อาจ​มี​ค่า​มาก​กว่า​พัน​คำ แต่​บาง​ครั้ง​คำ​เพียง​หนึ่ง​หรือ​สอง​คำ​ก็​อาจ​ทำ​ให้​เห็น​เป็น​ภาพ​ได้. ภาพพจน์​หรือ​สำนวน​โวหาร​ที่​ทำ​ให้​ผู้​อ่าน​นึก​เห็น​เป็น​ภาพ​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. * ตัว​อย่าง​เช่น ครั้ง​หนึ่ง​เคย​มี​การ​นับ​และ​พบ​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​ใช้​สำนวน​ภาษา​ที่​เป็น​ภาพพจน์​มาก​กว่า 50 สำนวน​ใน​การ​เทศน์​สั่ง​สอน​เพียง​ครั้ง​เดียว คือ​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา.

ทำไม​เรา​ควร​สนใจ​ภาพพจน์​เหล่า​นี้? เหตุ​ผล​ประการ​หนึ่ง​คือ การ​เข้าใจ​ภาพพจน์​เหล่า​นี้​จะ​ช่วย​ให้​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เรา​มี​อรรถรส​และ​น่า​สนใจ​ยิ่ง​ขึ้น และ​ทำ​ให้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มี​คุณค่า​มาก​ขึ้น​สำหรับ​เรา. นอก​จาก​นั้น ถ้า​เรา​รู้​ว่า​ข้อ​ความ​ใด​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​คือ​ภาพพจน์​และ​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​ภาพพจน์​นั้น เรา​ก็​จะ​เข้าใจ​ข่าวสาร​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น​ด้วย. ที่​จริง การ​ที่​เรา​ไม่​รู้​ว่า​ข้อ​ความ​ใด​เป็น​ภาพพจน์​ไม่​เพียง​ทำ​ให้​เรา​สับสน​ได้​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ทำ​ให้​เข้าใจ​ผิด​ได้​ด้วย.

ทำ​ความ​เข้าใจ​ภาพพจน์

ภาพพจน์​เป็น​การ​เปรียบ​เทียบ​แนว​คิด​หนึ่ง​กับ​อีก​แนว​คิด​หนึ่ง. ใน​การ​เปรียบ​เทียบ​เช่น​นั้น​จะ​ต้อง​มี​องค์​ประกอบ​สาม​อย่าง คือ เรื่อง​ที่​กล่าว​ถึง, สิ่ง​ที่​นำ​มา​เปรียบ​และ​จุด​ที่​เหมือน​กัน​ของ​สอง​สิ่ง​นั้น. ฉะนั้น กุญแจ​สำคัญ​ที่​จะ​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ความ​หมาย​ที่​แท้​จริง​ของ​ภาพพจน์​ก็​คือ​การ​แยกแยะ​และ​เข้าใจ​องค์​ประกอบ​สาม​อย่าง​นี้.

บาง​ครั้ง​อาจ​สังเกต​ได้​ไม่​ยาก​ว่า​อะไร​คือ​เรื่อง​ที่​กล่าว​ถึง​และ​อะไร​คือ​สิ่ง​ที่​นำ​มา​เปรียบ. แต่​จุด​ที่​เหมือน​กัน​ของ​สอง​สิ่ง​นั้น​อาจ​มี​อยู่​หลาย​จุด. อะไร​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​รู้​ว่า​ผู้​ที่​พูด​กำลัง​หมาย​ถึง​จุด​ไหน? บ่อย​ครั้ง บริบท​หรือ​ข้อ​ความ​แวด​ล้อม​จะ​ช่วย​คุณ​ได้. *

ตัว​อย่าง​เช่น พระ​เยซู​ตรัส​กับ​ประชาคม​ใน​เมือง​ซาร์ดิส​ว่า “แน่นอน ถ้า​เจ้า​ไม่​ตื่น​ขึ้น เรา​จะ​มา​เหมือน​ขโมย.” ใน​ข้อ​นี้​พระ​เยซู​กำลัง​เปรียบ​การ​เสด็จ​มา​ของ​พระองค์ (เรื่อง​ที่​กล่าว​ถึง) กับ​การ​มา​ของ​ขโมย (สิ่ง​ที่​นำ​มา​เปรียบ). แต่​อะไร​คือ​จุด​ที่​เหมือน​กัน? บริบท​ช่วย​เรา​ได้. พระ​เยซู​ตรัส​ต่อ​ไป​ว่า “เจ้า​จะ​ไม่​รู้​เลย​ว่า​เรา​จะ​มา​หา​เจ้า​ใน​เวลา​ใด.” (วิวรณ์ 3:3) ดัง​นั้น พระ​เยซู​ไม่​ได้​เปรียบ​เทียบ​ใน​เรื่อง​จุด​ประสงค์​ของ​การ​มา. พระองค์​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​พระองค์​จะ​เสด็จ​มา​เพื่อ​ขโมย. แต่​พระองค์​กำลัง​เปรียบ​เทียบ​ให้​เห็น​ว่า​การ​มา​ของ​พระองค์​จะ​เกิด​ขึ้น​โดย​ไม่​มี​ใคร​คาด​คิด​และ​ไม่​มี​การ​แจ้ง​ล่วง​หน้า.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม บาง​ครั้ง​ภาพพจน์​ใน​ที่​หนึ่ง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​เข้าใจ​ภาพพจน์​คล้าย ๆ กัน​ใน​อีก​ที่​หนึ่ง. ตัว​อย่าง​เช่น อัครสาวก​เปาโล​ใช้​ภาพพจน์​เดียว​กัน​กับ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ใช้​เมื่อ​ท่าน​เขียน​ว่า “พวก​ท่าน​รู้​ดี​ว่า​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​จะ​มา​เหมือน​ขโมย​ที่​มา​ตอน​กลางคืน.” (1 เทสซาโลนิเก 5:2) เปาโล​ไม่​ได้​บอก​ตรง ๆ ใน​บริบท​ว่า​อะไร​คือ​จุด​ที่​เหมือน​กัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​เปรียบ​เทียบ​ภาพพจน์​นี้​กับ​ภาพพจน์​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ใช้​ที่​วิวรณ์ 3:3 สามารถ​ช่วย​คุณ​ให้​เข้าใจ​ว่า​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​เหมือน​กับ​การ​มา​ของ​ขโมย​อย่าง​ไร. ภาพพจน์​ดัง​กล่าว​เป็น​ข้อ​เตือน​ใจ​ที่​มี​พลัง​สัก​เพียง​ไร​ซึ่ง​เตือน​ใจ​คริสเตียน​ทุก​คน​ว่า​ต้อง​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ!

ภาพพจน์​ที่​สอน​เรา​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า

ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​สามารถ​เข้าใจ​บุคลิกภาพ​และ​พลัง​อำนาจ​ของ​พระเจ้า​องค์​ทรง​ฤทธิ์​ใหญ่​ยิ่ง​ได้​ครบ​ถ้วน​ทุก​แง่​มุม. ใน​กาล​โบราณ กษัตริย์​ดาวิด​ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ ‘ความ​ใหญ่​ยิ่ง​ซึ่ง​เหลือ​ที่​มนุษย์​จะ​รู้​ได้’ ของ​พระ​ยะโฮวา. (บทเพลง​สรรเสริญ 145:3) เมื่อ​พิจารณา​ดู​ผล​งาน​การ​สร้าง​ของ​พระเจ้า โยบ​ถึง​กับ​กล่าว​ว่า “ดู​เถิด​กิจการ​เหล่า​นี้​เป็น​แต่​เพียง​ผิว​นอก​แห่ง​ราชกิจ​ของ​พระองค์. เรา​รู้​ถึง​เรื่อง​ของ​พระองค์​จาก​เสียง​กระซิบ​ที่​แผ่ว​เบา​เท่า​นั้น. ส่วน​เดชานุภาพ​อัน​กึกก้อง​ของ​พระองค์​นั้น​ใคร​จะ​เข้าใจ​ได้?”—โยบ 26:14

กระนั้น คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​ภาพพจน์​เพื่อ​ช่วย​คุณ​ให้​เข้าใจ​ใน​ระดับ​หนึ่ง​ว่า​พระเจ้า​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​มี​คุณลักษณะ​ที่​ยอด​เยี่ยม​อย่าง​ไร​บ้าง. คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ภาพ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​กษัตริย์, ผู้​บัญญัติ​กฎหมาย, ผู้​พิพากษา และ​นัก​รบ ซึ่ง​ทำ​ให้​เห็น​ชัด​ว่า​พระองค์​สม​ควร​ได้​รับ​ความ​นับถือ​จาก​เรา. นอก​จาก​นี้ ยัง​มี​การ​ให้​ภาพ​พระองค์​เป็น​ผู้​บำรุง​เลี้ยง, ที่​ปรึกษา, ครู, บิดา, ผู้​เยียว​ยา​รักษา, และ​ผู้​ช่วย​ให้​รอด ซึ่ง​ล้วน​แสดง​ว่า​พระองค์​เป็น​ผู้​ที่​เรา​จะ​รัก​ได้. (บทเพลง​สรรเสริญ 16:7; 23:1; 32:8; 71:17; 89:26; 103:3; 106:21; ยะซายา 33:22; 42:13; โยฮัน 6:45) การ​อธิบาย​ด้วย​คำ​ที่​เข้าใจ​ง่าย​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​ที่​น่า​ประทับใจ​มาก​มาย​และ​แต่​ละ​ภาพ​ก็​มี​จุด​ที่​เหมือน​กัน​หลาย​จุด. ภาพพจน์​เหล่า​นี้​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​และ​ความ​รู้สึก​ได้​มาก​กว่า​ที่​ถ้อย​คำ​มาก​มาย​สามารถ​ทำ​ได้.

นอก​จาก​นี้ คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​เปรียบ​พระ​ยะโฮวา​กับ​สิ่ง​ที่​ไม่​มี​ชีวิต​ด้วย. มี​การ​กล่าว​ถึง​พระองค์​ว่า​เป็น “ศิลา​ของ​พวก​ยิศราเอล” และ​เป็น “ป้อม.” (2 ซามูเอล 23:3; บทเพลง​สรรเสริญ 18:2; พระ​บัญญัติ 32:4) จุด​ที่​เหมือน​กัน​คือ​อะไร? เช่น​เดียว​กับ​ศิลา​แข็ง​แกร่ง​ที่​ตั้ง​มั่นคง พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ก็​สามารถ​เป็น​ผู้​ปก​ป้อง​คุ้มครอง​ที่​แข็ง​แกร่ง​สำหรับ​คุณ​ได้.

ใน​หนังสือ​บทเพลง​สรรเสริญ​มี​การ​ใช้​ภาพพจน์​มาก​มาย​เพื่อ​อธิบาย​บุคลิกภาพ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ด้าน​ต่าง ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น บทเพลง​สรรเสริญ 84:11 กล่าว​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ว่า​ทรง​เป็น “ดวง​อาทิตย์​และ​เป็น​โล่” เพราะ​พระองค์​ทรง​เป็น​ผู้​ประทาน​ความ​สว่าง, ชีวิต, พลัง​งาน​และ​การ​ปก​ป้อง​คุ้มครอง. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง บทเพลง​สรรเสริญ 121:5 กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​เป็น​ร่ม​เงา​อยู่​ที่​มือ​ขวา​ของ​ท่าน.” เช่น​เดียว​กับ​ร่ม​เงา​ที่​สามารถ​ปก​ป้อง​คุณ​จาก​แสง​แดด​ที่​แผด​เผา พระ​ยะโฮวา​ก็​สามารถ​ปก​ป้อง​ผู้​ที่​รับใช้​พระองค์​ให้​พ้น​จาก​ความ​หายนะ โดย​ป้องกัน​รักษา​พวก​เขา​ไว้ “ใต้​ร่ม​มือ” หรือ “ใต้​ร่ม​ปีก” ของ​พระองค์.—ยะซายา 51:16; บทเพลง​สรรเสริญ 17:8; 36:7

ภาพพจน์​ที่​พรรณนา​พระ​เยซู

คัมภีร์​ไบเบิล​เรียก​พระ​เยซู​หลาย​ครั้ง​ว่า “พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า.” (โยฮัน 1:34; 3:16-18) บาง​คน​ที่​ไม่​ใช่​คริสเตียน​รู้สึก​ว่า​การ​เรียก​พระ​เยซู​เช่น​นี้​เข้าใจ​ยาก เพราะ​พระเจ้า​ไม่​มี​ภรรยา​และ​พระองค์​ไม่​ได้​มี​ลักษณะ​อย่าง​มนุษย์. เห็น​ได้​ชัด​ว่า พระเจ้า​ไม่​ได้​ทรง​ให้​กำเนิด​บุตร​ใน​ลักษณะ​เดียว​กับ​มนุษย์. ดัง​นั้น คำ​เรียก​นี้​จึง​เป็น​ภาษา​ภาพพจน์. การ​เรียก​พระ​เยซู​เช่น​นี้​ช่วย​ให้​ผู้​อ่าน​เข้าใจ​ว่า​สาย​สัมพันธ์​ระหว่าง​พระ​เยซู​กับ​พระเจ้า​เป็น​เหมือน​สาย​สัมพันธ์​ระหว่าง​บุตร​กับ​บิดา. นอก​จาก​นั้น ภาพพจน์​นี้​ยัง​เน้น​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​ได้​รับ​ชีวิต​จาก​พระ​ยะโฮวา คือ​เป็น​ผู้​ที่​พระเจ้า​ทรง​สร้าง​ขึ้น. อาดาม มนุษย์​คน​แรก​ก็​ถูก​เรียก​ว่า “บุตร​ของ​พระเจ้า” ใน​ความ​หมาย​ทำนอง​นี้​เช่น​กัน.—ลูกา 3:38

พระ​เยซู​ทรง​ใช้​ภาพพจน์​เพื่อ​อธิบาย​บทบาท​ต่าง ๆ ของ​พระองค์​ใน​การ​ทำ​ให้​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​บรรลุ​ผล​สำเร็จ. ตัว​อย่าง​เช่น พระองค์​ตรัส​ว่า “เรา​เป็น​ต้น​องุ่น​แท้​และ​พระ​บิดา​ของ​เรา​เป็น​ผู้​ดู​แล​รักษา.” แล้ว​พระ​เยซู​ก็​เปรียบ​สาวก​ของ​พระองค์​เป็น​กิ่ง​องุ่น. (โยฮัน 15:1, 4) ภาพพจน์​นี้​สอน​จุด​สำคัญ​อะไร? เพื่อ​จะ​ไม่​ตาย​และ​เกิด​ผล กิ่ง​องุ่น​จะ​ต้อง​ติด​อยู่​กับ​ต้น. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน สาวก​ของ​พระ​เยซู​ก็​ต้อง​ติด​สนิท​อยู่​กับ​พระองค์. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ถ้า​พวก​เจ้า​อยู่​ต่าง​หาก​จาก​เรา พวก​เจ้า​จะ​ทำ​อะไร​ไม่​ได้​เลย.” (โยฮัน 15:5) และ​เช่น​เดียว​กับ​ผู้​ดู​แล​สวน​องุ่น​ที่​คาด​หมาย​จะ​เห็น​ต้น​องุ่น​เกิด​ผล พระ​ยะโฮวา​ก็​ทรง​คาด​หมาย​ให้​ผู้​ที่​ติด​สนิท​กับ​พระ​เยซู​เกิด​ผล​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย​เช่น​กัน.—โยฮัน 15:8

ศึกษา​ให้​แน่​ใจ​ว่า​อะไร​คือ​จุด​ที่​เหมือน​กัน

เรา​อาจ​สรุป​เรื่อง​อย่าง​ผิด ๆ ได้​ถ้า​เรา​เพียง​แต่​อ่าน​ภาพพจน์​โดย​ไม่​ทำ​ความ​เข้าใจ​ว่า​สอง​สิ่ง​ที่​มี​การ​เปรียบ​เทียบ​ใน​ภาพพจน์​นั้น​เหมือน​กัน​อย่าง​ไร. ตัว​อย่าง​เช่น คำ​กล่าว​ใน​โรม 12:20 ที่​ว่า “ถ้า​ศัตรู​ของ​ท่าน​หิว จง​ให้​อาหาร​เขา​กิน ถ้า​เขา​กระหาย จง​ให้​อะไร​เขา​ดื่ม เพราะ​ที่​ท่าน​ทำ​อย่าง​นี้​จะ​เป็น​เหมือน​การ​กอง​ถ่าน​เพลิง​ไว้​บน​ศีรษะ​ของ​เขา.” การ​กอง​ถ่าน​เพลิง​ไว้​บน​ศีรษะ​ของ​ใคร​คน​หนึ่ง​หมาย​ถึง​การ​แก้แค้น​ไหม? เรา​จะ​ไม่​คิด​เช่น​นั้น​แน่​ถ้า​เรา​เข้าใจ​จุด​ที่​กำลัง​มี​การ​เปรียบ​เทียบ. ภาพพจน์​นี้​มา​จาก​วิธี​ถลุง​แร่​ใน​สมัย​โบราณ. สิน​แร่​จะ​ถูก​วาง​บน​ถ่าน​หิน​เพื่อ​ทำ​ให้​ร้อน และ​มี​การ​กอง​ถ่าน​หิน​บาง​ส่วน​ไว้​บน​สิน​แร่​ด้วย. โดย​วิธี​นี้​สิน​แร่​ก็​จะ​หลอม​ละลาย​และ​โลหะ​บริสุทธิ์​จะ​แยก​ตัว​ออก​จาก​ขี้​แร่. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน โดย​การ​แสดง​ความ​กรุณา​ต่อ​บุคคล​หนึ่ง บ่อย​ครั้ง​เรา​ก็​สามารถ​ทำ​ให้​ทัศนคติ​ของ​เขา​อ่อน​ลง​และ​ดึง​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ใน​ตัว​เขา​ออก​มา​ได้.

การ​เข้าใจ​ภาพพจน์​ต่าง ๆ อย่าง​ถูก​ต้อง​ไม่​เพียง​ช่วย​ให้​เรา​มี​ความ​คิด​ที่​แจ่ม​ชัด​เท่า​นั้น แต่​ยัง​มี​ผล​กระทบ​ไป​ถึง​ความ​รู้สึก​ลึก ๆ ของ​เรา​ด้วย. เมื่อ​มี​การ​เปรียบ​เทียบ​บาป​กับ​หนี้ เรา​ก็​รู้สึก​ได้​ถึง​ความ​หนัก​ใจ​เนื่อง​จาก​บาป. (ลูกา 11:4) แต่​เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​เรา​และ​โปรด​ยก​หนี้​ซึ่ง​แท้​จริง​แล้ว​ต้อง​เรียก​เอา​จาก​เรา​นั้น เรา​ก็​รู้สึก​โล่ง​ใจ​สัก​เพียง​ไร! เมื่อ​เรา​ได้​รู้​ว่า​พระองค์​ทรง “กลบเกลื่อน” และ “ลบ​ล้าง” บาป​ของ​เรา ราว​กับ​ลบ​กระดาน​ที่​ใช้​เขียน​จน​สะอาด เรา​ก็​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระองค์​จะ​ไม่​ทรง​ลง​โทษ​เรา​เพราะ​บาป​นั้น​อีก. (บทเพลง​สรรเสริญ 32:1, 2; กิจการ 3:19) นอก​จาก​นี้ เรา​ยัง​ได้​กำลังใจ​มาก​จริง ๆ เมื่อ​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สามารถ​ทำ​ให้​บาป​ที่​เห็น​เด่น​ชัด​ดุจ​สี​แดง​ก่ำ​หรือ​สี​แดง​เข้ม​กลาย​เป็น​สี​ขาว​เหมือน​อย่าง​หิมะ​ได้!—ยะซายา 1:18

ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​เพียง​ภาพพจน์​ไม่​กี่​สำนวน​ใน​จำนวน​นับ​ร้อย ๆ ที่​มี​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. ดัง​นั้น เมื่อ​คุณ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​คุณ ขอ​ให้​สนใจ​ภาพพจน์​เหล่า​นั้น​เป็น​พิเศษ. จง​ศึกษา​ให้​แน่​ใจ​ว่า​อะไร​คือ​จุด​ที่​เหมือน​กัน​ซึ่ง​มี​การ​เปรียบ​เทียบ​และ​ใคร่ครวญ​จุด​เหล่า​นั้น. การ​ทำ​เช่น​นี้​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​เข้าใจ​และ​สำนึก​ถึง​คุณค่า​ของ​พระ​คัมภีร์​มาก​ยิ่ง​ขึ้น.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 คำ​ว่า “ภาพพจน์” ที่​ใช้​ใน​บทความ​นี้​หมาย​ถึง​สำนวน​โวหาร​แบบ​ต่าง ๆ เช่น อุปลักษณ์ อุปมา หรือ​วิธี​การ​เขียน​แบบ​อื่น ๆ ซึ่ง​ทำ​ให้​เห็น​เป็น​ภาพ.

^ วรรค 6 สารานุกรม​คัมภีร์​ไบเบิล​ชุด​สอง​เล่ม​ที่​ชื่อ​การ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา มี​ข้อมูล​ภูมิหลัง​มาก​มาย​ซึ่ง​หลาย​ครั้ง​ช่วย​ให้​เข้าใจ​จุด​ที่​เหมือน​กัน​ใน​ภาพพจน์​ต่าง ๆ.

[กรอบ​หน้า 13]

ภาพพจน์​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร?

ภาพพจน์​ช่วย​เรา​ได้​ใน​หลาย​ทาง. แนว​คิด​ที่​เข้าใจ​ยาก​อาจ​ถูก​นำ​ไป​เปรียบ​กับ​สิ่ง​ที่​เข้าใจ​ง่าย. อาจ​ใช้​ภาพพจน์​หลาย​แบบ​เพื่อ​อธิบาย​เรื่อง​ที่​มี​หลาย​แง่​มุม. เรา​สามารถ​ใช้​ภาพพจน์​เพื่อ​เน้น​แนว​คิด​ที่​สำคัญ​หรือ​ทำ​ให้​แนว​คิด​นั้น​น่า​สนใจ​ยิ่ง​ขึ้น.

[กรอบ​หน้า 14]

รู้​จัก​องค์​ประกอบ​ของ​ภาพพจน์

ภาพพจน์: “เจ้า​ทั้ง​หลาย​เป็น​เกลือ​แห่ง​แผ่นดิน​โลก.” (มัดธาย 5:13)

เรื่อง​ที่​กล่าว​ถึง: เจ้า​ทั้ง​หลาย (สาวก​ของ​พระ​เยซู)

สิ่ง​ที่​นำ​มา​เปรียบ: เกลือ

จุด​ที่​เหมือน​กัน​ใน​บริบท​นี้: มี​คุณสมบัติ​ใน​การ​ถนอม​หรือ​รักษา

บทเรียน: พวก​สาวก​มี​ข่าวสาร​ที่​สามารถ​รักษา​ชีวิต​ผู้​คน.

[คำ​โปรย​หน้า 15]

“พระเจ้า​ทรง​เลี้ยง​ดู​ข้าพเจ้า​ดุจ​เลี้ยง​แกะ ข้าพเจ้า​จะ​ไม่​ขัดสน”​—⁠บทเพลง​สรรเสริญ 23:1, ฉบับ R​73