ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว

พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงจะรับมือกับคนนอกครอบครัวได้อย่างไร?

พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงจะรับมือกับคนนอกครอบครัวได้อย่างไร?

มาร์กาเรต * แม่เลี้ยงคนหนึ่งในออสเตรเลียบอกว่า “ภรรยาเก่าของสามีฉันสอนลูกๆของเธอว่า ไม่ว่าฉันจะพูดอะไรก็ไม่ต้องฟังทั้งนั้น แม้แต่เรื่องธรรมดาๆ เช่น ‘อย่าลืมแปรงฟันนะ.’” มาร์กาเรตรู้สึกว่าชีวิตสมรสของเธอมีปัญหาเพราะมีคนคอยยุยงให้แตกแยกกัน.

ครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงมักจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนนอกครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยาก. * พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงส่วนใหญ่จำเป็นต้องติดต่อพูดคุยกับอดีตสามีหรือภรรยาเพื่อตกลงกันเรื่องการเยี่ยมเยียน การอบรมสั่งสอน และการส่งเสียเลี้ยงดูลูกๆ. นอกจากนั้น เพื่อนและญาติๆอาจรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว. ให้เรามาดูว่าคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงให้รับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร.

ความสัมพันธ์ 1: พ่อแม่แท้ๆของเด็ก

จูดิท แม่เลี้ยงคนหนึ่งในประเทศนามิเบียบอกว่า “ภรรยาเก่าของสามีฉันเคยบอกลูกๆของเธอว่าฉันเป็นแค่ภรรยาใหม่ของพ่อ และลูกของฉันไม่ใช่พี่น้องของพวกเขา. คำพูดของเธอทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวดมาก เพราะฉันก็รักลูกเลี้ยงเหมือนลูกแท้ๆของฉันเอง.”

นักวิชาการยอมรับว่าความผูกพันระหว่างเด็กกับพ่อแม่แท้ๆอาจสร้างปัญหาและก่อความแตกแยกให้กับครอบครัวใหม่ได้. บ่อยครั้ง คนที่มีปัญหามากที่สุดก็คือแม่แท้ๆกับแม่เลี้ยง. อะไรจะช่วยได้?

 เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: กำหนดขอบเขตที่เหมาะสม. ถ้าคุณพยายามกีดกันอดีตคู่สมรสไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับลูกของคุณเลย เด็กก็อาจมีปัญหาทางอารมณ์ได้. * สำหรับเด็กแล้ว พ่อแม่ “ผู้บังเกิดเกล้า” ย่อมเป็นคนพิเศษในใจเขาเสมอ. (สุภาษิต 23:22, 25) ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณยอมให้อดีตคู่สมรสเข้ามามีบทบาทในบ้านของคุณมากเกินไป สามีหรือภรรยาใหม่ของคุณคงไม่สบายใจหรือถึงกับโกรธด้วยซ้ำ. ดังนั้น จงจำกัดความสัมพันธ์กับอดีตสามีหรือภรรยาให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมเพื่อปกป้องชีวิตสมรสของคุณ แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความร่วมมือกับเขาซึ่งเป็นพ่อแม่แท้ๆของเด็กให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้.

ข้อแนะสำหรับพ่อแม่แท้ๆ

  • เมื่อติดต่อกับอดีตคู่สมรส คุณควรพูดเรื่องลูกเป็นหลักและพยายามพูดเรื่องอื่นให้น้อยที่สุด. ตัวอย่างเช่น คุณอาจขอร้องเขาให้โทรมาหาลูกในเวลาเดียวกันเสมอและให้เป็นช่วงกลางวันเท่านั้น แทนที่จะโทรมาดึกๆดื่นๆหรือโทรมาแบบไม่เป็นเวล่ำเวลา.

  • ถ้าคุณไม่ได้สิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูก คุณอาจติดต่อกับลูกเป็นประจำได้โดยโทรศัพท์ เขียนจดหมาย ส่งข้อความ หรือส่งอีเมล. (พระบัญญัติ 6:6, 7) พ่อแม่บางคนถึงกับใช้ระบบสื่อสารแบบที่เห็นหน้ากันได้. โดยวิธีนี้คุณอาจเข้าใจปัญหาของลูกมากขึ้นและให้คำแนะนำที่ดีกับเขาได้อย่างที่คุณอาจคิดไม่ถึงด้วยซ้ำ.

ข้อแนะสำหรับแม่เลี้ยง

  • แสดง “ความเห็นอกเห็นใจ” ต่อแม่แท้ๆของลูกเลี้ยง โดยพูดให้ชัดเจนว่าคุณไม่ได้พยายามมาแทนที่เธอ. (1 เปโตร 3:8) เล่าให้เธอฟังเป็นระยะๆว่าลูกของเธอเป็นอย่างไรบ้าง โดยเน้นแต่เรื่องดีๆ. (สุภาษิต 16:24) ขอคำแนะนำจากเธอและขอบคุณเมื่อเธอให้คำแนะนำ.

  • ระวังที่จะไม่แสดงความรักต่อลูกเลี้ยงมากเกินไปเมื่ออยู่ต่อหน้าแม่แท้ๆของเขา. เบฟเวอร์ลี แม่เลี้ยงคนหนึ่งในสหรัฐเล่าว่า “ลูกเลี้ยงของฉันอยากเรียกฉันว่าแม่. เราเลยตกลงกันว่าพวกเขาจะเรียกฉันว่าแม่ได้เมื่ออยู่ที่บ้านของเรา แต่ห้ามเรียกเมื่ออยู่ต่อหน้าเจน แม่แท้ๆของพวกเขาหรือครอบครัวของเธอ. หลังจากใช้วิธีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับเจนก็ดีขึ้น. ที่จริง เราถึงกับช่วยกันดูแลเด็กๆเวลามีการแสดงที่โรงเรียนหรือเมื่อไปทัศนศึกษา.”

คุณอาจช่วยลูกแท้ๆของคุณได้มากกว่าที่คุณคิด

ข้อแนะที่ช่วยให้พ่อแม่แท้ๆกับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงเข้ากันได้

  • อย่าพูดถึงพ่อแม่แท้ๆหรือพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงในแง่ลบให้เด็กได้ยิน. เป็นเรื่องง่ายที่จะเผลอพูดแบบนั้น แต่คำพูดเชิงนินทาว่าร้ายมีแต่จะทำให้เด็กไม่สบายใจ และเขาอาจเอาคำพูดของคุณไปพูดต่อก็ได้. (ท่านผู้ประกาศ 10:20) ถ้าเด็กมาเล่าให้คุณฟังว่าพ่อแม่แท้ๆหรือพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงของเขาพูดไม่ดีเกี่ยวกับคุณ ขอให้คุณคิดถึงความรู้สึกของเด็กเป็นสำคัญ. คุณอาจพูดทำนองที่ว่า “ฉันเสียใจนะที่หนูต้องมาฟังเรื่องอย่างนี้. แม่ของหนูโกรธฉัน และเวลาที่คนเราโมโห เราก็มักจะพูดอะไรออกไปโดยไม่คิด.”

    การปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพและความนับถือช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่ดี

  • พยายามตั้งกฎและอบรมสั่งสอนลูกด้วยหลักการเดียวกันทั้งสองบ้าน. ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจโดยไม่ตำหนิอีกฝ่ายหนึ่ง. ลองนึกถึงฉากเหตุการณ์ต่อไปนี้:

     แม่เลี้ยง: ทิม อย่าลืมเอาผ้าเช็ดตัวที่ใช้แล้วไปตากด้วยนะจ๊ะ.

    ทิม: ที่บ้านแม่ผม เราก็แค่กองมันไว้บนพื้น เดี๋ยวแม่ก็เอาไปตากเอง.

    แม่เลี้ยง (โกรธ): แม่เธอนี่ยังไงนะ! ทำไมสอนลูกให้ขี้เกียจอย่างนี้.

    พูดแบบนี้ดีกว่าไหม?

    แม่เลี้ยง (ใจเย็น): อย่างนั้นหรือจ๊ะ. แต่ที่นี่ เราต้องตากผ้าเช็ดตัวกันเองนะ.

  • อย่าวางแผนทำกิจกรรมของครอบครัวตอนที่ลูกเลี้ยงมีนัดกับพ่อแม่แท้ๆของเขา. (มัดธาย 7:12) ถ้าคุณไม่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้ ให้ขออนุญาตพ่อแม่แท้ๆก่อนจะบอกให้เด็กรู้ว่าคุณมีแผนการอะไร.

ลองวิธีนี้: ถ้าคราวหน้าคุณพบกับอดีตสามีหรือภรรยาของคู่สมรส หรือพบกับสามีหรือภรรยาใหม่ของอดีตคู่สมรส ลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้:

  1. สบตาและยิ้มให้เขา. อย่าถอนหายใจ ยักไหล่ หรือชักสีหน้าแสดงความรำคาญออกมา.

  2. ทักทายอีกฝ่ายหนึ่งโดยเรียกชื่อของเขา เช่น พูดว่า “สวัสดีค่ะ เจน.”

  3. ถ้าคุณกำลังพูดคุยกับคนอื่นๆ จงชวนเขาให้มีส่วนร่วมในวงสนทนาด้วย.

ความสัมพันธ์ 2: ลูกเลี้ยงที่โตแล้ว

หนังสือเล่มหนึ่ง (Step Wars) ยกคำพูดของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่พอใจที่สามีชอบเข้าข้างลูกของเขาที่โตแล้วและไม่ยอมเชื่อว่าลูกของเขาปฏิบัติต่อเธออย่างไม่ให้เกียรติ. เธอบอกว่า “พวกเขาทำให้ฉันอารมณ์พุ่งปรี๊ดขึ้นมาทันที.” คุณจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ปัญหาระหว่างคุณกับลูกเลี้ยงมาบั่นทอนความสัมพันธ์ของคุณกับคู่สมรส?

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: พยายามเข้าใจความรู้สึก. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “อย่าให้ใครทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่นด้วย.” (1 โครินท์ 10:24) จงแสดงความเห็นอกเห็นใจและคิดถึงความรู้สึกของคนอื่น. ลูกเลี้ยงที่โตแล้วอาจกลัวว่าพ่อแม่จะรักครอบครัวใหม่มากกว่าเขา หรือเขาอาจรู้สึกว่าการทำดีกับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงเป็นการทรยศพ่อแม่แท้ๆ. ขณะเดียวกัน คู่สมรสของคุณก็อาจกลัวว่าการดุด่าว่ากล่าวลูกของตนจะทำให้ลูกเสียใจและรู้สึกว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการ.

แทนที่จะพยายามบังคับลูกเลี้ยงให้สนิทกับคุณ คุณควรปล่อยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพวกเขาพัฒนาขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป. นับว่าไม่ฉลาดที่จะบีบบังคับหรือกดดันให้ใครมารักเรา. (เพลงไพเราะ 8:4) ดังนั้น ขณะที่คุณพยายามสร้างความสัมพันธ์กับลูกเลี้ยง คุณควรคาดหมายอย่างที่ตรงกับความเป็นจริงและมีเหตุผล.

อย่าพูดทุกสิ่งที่คุณคิดหรือรู้สึก แม้ว่าลูกเลี้ยงจะทำไม่ดีกับคุณ. (สุภาษิต 29:11) ถ้าคุณรู้สึกว่าการควบคุมคำพูดเป็นเรื่องยาก ขอให้ทำเหมือนกษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลที่อธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงจัดการแวดล้อมปากของข้าพเจ้า; ขอพระองค์ทรงรักษาประตูปากของข้าพเจ้าไว้.”—บทเพลงสรรเสริญ 141:3

ถ้าคุณตัดสินใจย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่ลูกเลี้ยงของคุณอยู่มาตั้งแต่เด็ก คุณอาจแปลกใจเมื่อเห็นว่าเขาผูกพันกับบ้านนั้นมาก แค่ไหน. จงพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในบ้านให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะห้องที่เขาเคยอยู่. ในบางกรณีอาจดีกว่าถ้าคุณจะย้ายไปอยู่บ้านใหม่.

ลองวิธีนี้: ถ้าลูกเลี้ยงที่โตแล้วไม่ยอมให้ความนับถือต่อคุณหรือไม่เลิกแสดงกิริยาหยาบคาย คุณควรบอกคู่สมรสว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น และตั้งใจฟังว่าเขาคิดอย่างไร. อย่ากดดันคู่สมรสให้ว่ากล่าวแก้ไขลูกของเขา แต่พยายามพูดคุยเพื่อคุณทั้งสองจะเข้าใจกัน. ถ้าคุณ “คิดสอดคล้องกัน” เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น คุณก็จะช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้.—2 โครินท์ 13:11

พยายามแสดงความรักต่อเด็กทุกคนในครอบครัว

ความสัมพันธ์ 3: ญาติและเพื่อนๆ

แมเรียน แม่เลี้ยงคนหนึ่งในแคนาดาบอกว่า “พ่อแม่ฉันชอบให้ของขวัญลูกชายของฉัน แต่ไม่ให้ลูกๆของสามี. เราเลยต้องพยายามหาซื้อของขวัญให้พวกเขาด้วยเพื่อเด็กๆจะไม่รู้สึกน้อยใจ แต่บางครั้งเราก็ไม่มีเงินพอ.”

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: ครอบครัวใหม่ต้องมาก่อน. บอกญาติและเพื่อนให้เข้าใจว่าคุณตั้งใจจะดูแลครอบครัวใหม่ของคุณอย่างดีที่สุด. (1 ติโมเธียว 5:8) แม้คุณไม่อาจคาดหมายให้พวกเขารักคู่สมรสหรือลูกเลี้ยงของคุณทันที แต่คุณสามารถขอให้พวกเขาปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวใหม่ของคุณอย่างสุภาพและไม่ลำเอียง. อธิบายให้ญาติหรือเพื่อนเข้าใจว่าลูกเลี้ยงของคุณจะเสียใจถ้าพวกเขาไม่ได้รับความสนใจและความกรุณาเช่นเดียวกับลูกแท้ๆของคุณ.

พยายามให้ลูกมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับปู่ย่าตายายของพวกเขา. ซูซาน แม่คนหนึ่งในอังกฤษเล่าว่า “หลังจากสามีคนแรกเสียชีวิตได้ 18 เดือน ฉันก็แต่งงานใหม่ พ่อแม่ของสามีเก่าไม่ยอมรับสามีใหม่ของฉัน. แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเมื่อเราให้พวกท่านเข้ามามีส่วนร่วมในครอบครัวมากขึ้น ให้เด็กๆโทรหาปู่กับย่าบ่อยๆ และขอบคุณพวกท่านที่คอยช่วยเหลือเรา.”

ลองวิธีนี้: คิดดูว่ามีเพื่อนหรือญาติคนไหนบ้างที่ยังไม่ยอมรับครอบครัวใหม่ของคุณ จากนั้นปรึกษากับคู่ของคุณว่าจะปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร.

ความสัมพันธ์กับคนนอกครอบครัวอาจสร้างปัญหาให้กับครอบครัวใหม่ของคุณ. แต่ขอให้คุณทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล แล้วครอบครัวของคุณจะได้รับพระพรที่สัญญาไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ครอบครัวจะเจริญก็ด้วยสติปัญญา และครอบครัวจะมั่นคงก็ด้วยความเข้าใจ.”—สุภาษิต 24:3, ล.ม.

^ วรรค 3 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.

^ วรรค 4 สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาอื่นๆ โปรดดูบทความชุด “วิธีรับมือข้อท้าทายของครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง” ในวารสารตื่นเถิด! ฉบับเมษายน 2012 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.

^ วรรค 8 แต่ถ้าอดีตคู่สมรสของคุณใช้วิธีข่มขู่หรือใช้ความรุนแรง คุณอาจจำเป็นต้องวางข้อจำกัดให้เข้มงวดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว.

ถามตัวเองว่า . . .

  • ฉันจะเข้ากับอดีตสามีหรือภรรยาของคู่สมรสได้อย่างไร?

  • เราจะป้องกันไม่ให้ญาติและเพื่อนมาทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยไม่ตั้งใจได้อย่างไร?