ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กุญแจ​สู่​ความ​สุข​ใน​ครอบครัว

คุยกับลูกวัยรุ่นอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน?

คุยกับลูกวัยรุ่นอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน?

“ตอน​ที่​ลูก​สาว​ฉัน​อายุ 14 ปี เธอ​เริ่ม​เถียง​ฉัน. ถ้า​ฉัน​บอก​ลูก​ว่า ‘ถึง​เวลา​อาหาร​เย็น​แล้ว’ เธอ​ก็​จะ​บอก​ว่า ‘เดี๋ยว​หนู​หิว หนู​ก็​กิน​เอง​แหละ.’ ถ้า​ฉัน​ถาม​ลูก​ว่า​ทำ​งาน​บ้าน​เสร็จ​หรือ​ยัง เธอ​จะ​บอก​ว่า ‘เลิก​ถาม​ซะ​ที​ได้​ไหม หนู​รำคาญ!’ หลาย​ครั้ง ฉัน​กับ​ลูก​สาว​มัก​จะ​ขึ้น​เสียง​ใส่​กัน.”—มากิ ญี่ปุ่น *

ถ้า​คุณ​เป็น​พ่อ​แม่​ที่​มี​ลูก​วัยรุ่น คุณ​คง​มี​เรื่อง​ขัด​แย้ง​ที่​ทดสอบ​ความ​อด​ทน​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​เลี้ยง​ลูก​ไม่​เว้น​แต่​ละ​วัน. มาเรีย แม่​ใน​บราซิล​ที่​มี​ลูก​สาว​วัย 14 ปี​บอก​ว่า “ฉัน​จะ​อารมณ์​เดือด​พล่าน​ขึ้น​มา​ทันที​เมื่อ​ลูก​ท้าทาย​อำนาจ​ฉัน. เรา​ทั้ง​คู่​ต่าง​ก็​อารมณ์​เสีย​และ​แผด​เสียง​ใส่​กัน.” การ์เมลา ใน​อิตาลี​ก็​เจอ​ปัญหา​คล้าย​กัน. เธอ​พูด​ว่า “ฉัน​กับ​ลูก​ชาย​มัก​ทะเลาะ​กัน​อย่าง​รุนแรง แล้ว​หลัง​จาก​นั้น​เขา​ก็​จะ​ขัง​ตัว​เอง​อยู่​แต่​ใน​ห้อง.”

ทำไม​วัยรุ่น​บาง​คน​ชอบ​เถียง​พ่อ​แม่? พวก​เขา​ติด​นิสัย​มา​จาก​เพื่อน​รุ่น​เดียว​กัน​ไหม? ก็​มี​ส่วน​อยู่​บ้าง. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​เพื่อน​ที่​เรา​คบหา​ด้วย​มี​อิทธิพล​อย่าง​มาก ไม่​ว่า​ใน​ทาง​ดี​หรือ​เลว. (สุภาษิต 13:20; 1 โครินท์ 15:33) นอก​จาก​นั้น ความ​บันเทิง​สำหรับ​วัยรุ่น​ทุก​วัน​นี้​ก็​มี​ส่วน​หล่อ​หลอม​พวก​เขา​ให้​กลาย​เป็น​คน​ขืน​อำนาจ​และ​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พ่อ​แม่.

แต่​ยัง​มี​ปัจจัย​อื่น​อีก​หลาย​อย่าง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ซึ่ง​ไม่​ยาก​เกิน​กว่า​ที่​คุณ​จะ​จัด​การ​แก้ไข ถ้า​คุณ​เข้าใจ​ว่า​ปัจจัย​เหล่า​นั้น​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ลูก​ของ​คุณ​อย่าง​ไร. ขอ​พิจารณา​ปัจจัย​ต่อ​ไป​นี้.

กำลัง​พัฒนา “ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​เหตุ​ผล”

อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “ตอน​ที่​ข้าพเจ้า​เป็น​เด็ก ข้าพเจ้า​เคย​พูด​อย่าง​เด็ก คิด​อย่าง​เด็ก หา​เหตุ​ผล​อย่าง​เด็ก แต่​ตอน​นี้​ข้าพเจ้า​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว ข้าพเจ้า​จึง​ได้​เลิก​นิสัย​อย่าง​เด็ก.” (1 โครินท์ 13:11) คำ​พูด​ของ​เปาโล​แสดง​ว่า​เด็ก​กับ​ผู้​ใหญ่​คิด​ต่าง​กัน. อย่าง​ไร​ล่ะ?

เด็ก​มัก​จะ​คิด​แบบ​รูปธรรม​ตาม​ที่​มอง​เห็น​เท่า​นั้น เช่น ขาว​ก็​คือ​ขาว ดำ​ก็​คือ​ดำ. แต่​ผู้​ใหญ่​สามารถ​เข้าใจ​แนว​คิด​ที่​เป็น​นามธรรม​ได้​มาก​กว่า​และ​มี​วิธี​คิด​ที่​ซับซ้อน​กว่า​เมื่อ​หา​เหตุ​ผล​หรือ​ตัดสิน​ใจ. ตัว​อย่าง​เช่น ผู้​ใหญ่​มัก​จะ​คิด​ละเอียด​ลึกซึ้ง​กว่า​ใน​เรื่อง​จริยธรรม​และ​คิด​ว่า​สิ่ง​ที่​เขา​ทำ​จะ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​คน​อื่น​อย่าง​ไร. พวก​เขา​อาจ​เคย​ชิน​กับ​การ​คิด​เช่น​นี้ ใน​ขณะ​ที่​วัยรุ่น​ยัง​ไม่​คุ้น​เคย​กับ​วิธี​คิด​แบบ​ผู้​ใหญ่.

คัมภีร์​ไบเบิล​สนับสนุน​วัยรุ่น​ให้​พัฒนา “ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด.” (สุภาษิต 1:4, ล.ม.) ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​กระตุ้น​คริสเตียน​ทุก​คน ให้​ใช้ “ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​เหตุ​ผล.” (โรม 12:1, 2; ฮีบรู 5:14) แต่​บาง​ครั้ง​ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล​ของ​ลูก​วัยรุ่น​นี่​แหละ​ที่​ทำ​ให้​เขา​เถียง​กับ​คุณ แม้​แต่​ใน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ. * หรือ​เขา​อาจ​พูด​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เป็น​ความ​คิด​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง. (สุภาษิต 14:12) ใน​กรณี​เช่น​นี้ คุณ​จะ​ช่วย​ลูก​ให้​คิด​อย่าง​ถูก​ต้อง​โดย​ไม่​ทะเลาะ​กัน​ได้​อย่าง​ไร?

ลอง​วิธี​นี้: จำ​ไว้​ว่า​ลูก​อาจ​เพียง​แค่​อยาก​ฝึก​ใช้​ทักษะ​การ​หา​เหตุ​ผล​ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​ใหม่​สำหรับ​เขา และ​เขา​อาจ​ไม่​ได้​คิด​อย่าง​ที่​พูด​เสมอ​ไป. เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​เขา​คิด​อย่าง​ไร​จริง ๆ ก่อน​อื่น ให้​ชมเชย​เขา​ที่​พยายาม​ใช้​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด. (“แม่​ชอบ​ที่​ลูก​รู้​จัก​คิด แม้​ว่า​แม่​จะ​ไม่​เห็น​ด้วย​ทั้ง​หมด​ก็​ตาม.”) หลัง​จาก​นั้น ช่วย​ลูก​ให้​วิเคราะห์​สิ่ง​ที่​เขา​คิด. (“ลูก​คิด​ว่า​วิธี​การ​ของ​ลูก​จะ​แก้​ปัญหา​ได้​ทุก ครั้ง​ไป​ไหม?”) คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​ที่​เห็น​ว่า​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​รู้​จัก​ทบทวน​และ​ขัด​เกลา​ความ​คิด​ของ​ตัว​เอง.

ข้อ​ควร​ระวัง: เมื่อ​พูด​คุย​กับ​ลูก​วัยรุ่น อย่า​คิด​ว่า​คุณ​ต้อง​พยายาม​พิสูจน์​ว่า​คุณ​เป็น​ฝ่าย​ถูก. แม้​ดู​เหมือน​ว่า​เขา​จะ​ทำ​หู​ทวน​ลม​ไม่​ยอม​ฟัง​สิ่ง​ที่​คุณ​พูด แต่​เขา​อาจ​รับ​ฟัง​และ​จด​จำ​คำ​พูด​ของ​คุณ​ได้​มาก​กว่า​ที่​คุณ​คิด หรือ​มาก​กว่า​ที่​เขา​จะ​ยอม​รับ​ด้วย​ซ้ำ. อย่า​แปลก​ใจ ถ้า​อีก​สอง​สาม​วัน​ต่อ​มา เขา​คล้อย​ตาม​ความ​คิด​ของ​คุณ หรือ​ถึง​กับ​บอก​ว่า​นั่น​เป็น​ความ​คิด​ของ​เขา​เอง.

“บาง​ครั้ง ผม​กับ​ลูก​ชาย​ทะเลาะ​กัน​เพราะ​เรื่อง​ไม่​เป็น​เรื่อง เช่น เมื่อ​เขา​ใช้​ของ​สิ้น​เปลือง​หรือ​แกล้ง​น้อง. แต่​ดู​เหมือน​ลูก​อยาก​ให้​ผม​ถาม​ว่า​เขา​คิด​อย่าง​ไร​และ​พูด​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​แสดง​ว่า​ผม​เข้าใจ​เขา เช่น ‘อ๋อ มัน​เป็น​อย่าง​นี้​เหรอ​ลูก’ หรือ ‘พ่อ​เข้าใจ​แล้ว​ว่า​ลูก​คิด​อย่าง​ไร.’ เมื่อ​มอง​ย้อน​กลับ​ไป ผม​คิด​ว่า​ถ้า​ผม​แค่​พูด​ทำนอง​นี้ เรา​ก็​คง​ไม่​ต้อง​ทะเลาะ​กัน​บ่อย ๆ.”—เคนจิ ญี่ปุ่น

กำลัง​เรียน​รู้​จัก​ตน​เอง

พ่อ​แม่​ที่​ฉลาด​จะ​ให้​โอกาส​ลูก​วัยรุ่น​ได้​แสดง​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​อิสระ

เป้าหมาย​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​ลูก​วัยรุ่น คือ ช่วย​เขา​ให้​พร้อม​ที่​จะ​ออก​ไป​เผชิญ​ชีวิต​ด้วย​ตัว​เอง​และ​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ. (เยเนซิศ 2:24) เพื่อ​จะ​บรรลุ​เป้าหมาย​นี้ เด็ก​วัยรุ่น​ต้อง​พัฒนา​เอกลักษณ์​ของ​ตน​เอง ทั้ง​ลักษณะ​นิสัย ความ​เชื่อ และ​ค่า​นิยม​ซึ่ง​เป็น​ตัว​ตน​ของ​เขา. เมื่อ​ถูก​กดดัน​ให้​ทำ​สิ่ง​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง เด็ก​วัยรุ่น​ที่​รู้​จัก​ตัว​เอง​ดี​จะ​ไม่​เพียง​คิด​ถึง​ผล​กระทบ​ที่​เกิด​จาก​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เขา​เท่า​นั้น แต่​จะ​ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​ว่า ‘ฉัน​เป็น​คน​แบบ​ไหน? ฉัน​ยึด​มั่น​กับ​ค่า​นิยม​เช่น​ไร? คน​ที่​มี​ค่า​นิยม​แบบ​นั้น​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ใน​สถานการณ์​เช่น​นี้?’—2 เปโตร 3:11

คัมภีร์​ไบเบิล​บันทึก​เรื่อง​ราว​ของ​ชาย​หนุ่ม​ชื่อ​โยเซฟ​ซึ่ง​ยึด​มั่น​กับ​ค่า​นิยม​ของ​ตน​เอง. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​ภรรยา​ของ​โพติฟา​ชักชวน​โยเซฟ​ให้​หลับ​นอน​กับ​เธอ โยเซฟ​ตอบ​ว่า “ข้าพเจ้า​จะ​ทำ​ผิด​ดัง​นี้​อย่าง​ไร​ได้, เป็น​บาป​ใหญ่​หลวง​นัก​ต่อ​พระเจ้า.” (เยเนซิศ 39:10) แม้​ว่า​ใน​ตอน​นั้น​พระเจ้า​ยัง​ไม่​ได้​ให้​กฎหมาย​ที่​ห้าม​การ​เล่นชู้​แก่​ชาว​อิสราเอล แต่​โยเซฟ​ก็​รู้​ว่า​พระเจ้า​คิด​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้. ยิ่ง​กว่า​นั้น คำ​พูด​ที่​ว่า “ข้าพเจ้า​จะ​ทำ​ผิด​ดัง​นี้​อย่าง​ไร​ได้” แสดง​ว่า​โยเซฟ​ได้​ฝึกฝน​ตัว​เอง​ให้​คิด​แบบ​เดียว​กับ​พระเจ้า และ​ความ​คิด​แบบ​นั้น​ได้​หล่อ​หลอม​ตัว​ตน​ของ​เขา.—เอเฟโซส์ 5:1

ลูก​ของ​คุณ​ก็​อยู่​ใน​วัย​กำลัง​พัฒนา​เอกลักษณ์​ของ​ตน​เอง. ขั้น​ตอน​นี้​นับ​ว่า​สำคัญ เพราะ​ถ้า​เขา​มี​ความ​เชื่อ​มั่น​ใน​ค่า​นิยม​ของ​ตน เขา​ก็​จะ​ยืนหยัด​ต้านทาน​แรง​กดดัน​จาก​เพื่อน​รุ่น​เดียว​กัน​ได้. (สุภาษิต 1:10-15) แต่​ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง​ความ​เชื่อ​มั่น​เช่น​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​ลูก​วัยรุ่น​มี​เรื่อง​ขัด​แย้ง​กับ​คุณ. ถ้า​เหตุ​การณ์​นี้​เกิด​ขึ้น คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร?

ลอง​วิธี​นี้: แทน​ที่​จะ​โมโห​และ​ทะเลาะ​กับ​ลูก คุณ​อาจ​เพียง​แค่​พูด​ซ้ำ​ความ​คิด​เห็น​ของ​เขา. (“ตก​ลง​ลูก​หมาย​ถึง . . . ใช่​ไหม?”) จาก​นั้น คุณ​ค่อย​ถาม​คำ​ถาม. (“อะไร​ทำ​ให้​ลูก​รู้สึก​อย่าง​นั้น?” หรือ “ทำไม​ลูก​คิด​แบบ​นี้?”) พยายาม​เข้าใจ​ความ​คิด​ของ​ลูก. ให้​เขา​ได้​พูด​ออก​มา​ว่า​เขา​คิด​อย่าง​ไร. ถ้า​เป็น​แค่​เรื่อง​ความ​ชอบ​ส่วน​ตัว​และ​ไม่​มี​ใคร​ผิด​ใคร​ถูก คุณ​น่า​จะ​ทำ​ให้​ลูก​เห็น​ว่า​คุณ​ยอม​รับ​ความ​คิด​เห็น​ของ​เขา แม้​คุณ​จะ​ไม่​เห็น​ด้วย​ทั้ง​หมด​ก็​ตาม.

การ​พัฒนา​เอกลักษณ์​และ​ความ​เชื่อ​มั่น​ใน​ค่า​นิยม​ของ​ตัว​เอง​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​พัฒนาการ​ตาม​ปกติ​ของ​วัยรุ่น​เท่า​นั้น แต่​ยัง​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​เขา​ด้วย. ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​คริสเตียน​ไม่​ควร​เป็น​เหมือน​เด็ก​เล็ก ๆ ที่ “ถูก​ซัด​ไป​ซัด​มา​เหมือน​โดน​คลื่น​และ​ถูก​พา​ไป​ทาง​นั้น​บ้าง​ทาง​นี้​บ้าง​โดย​ลม​แห่ง​คำ​สอน​ทุก​อย่าง.” (เอเฟโซส์ 4:14) ดัง​นั้น คุณ​ต้อง​ให้​โอกาส​ลูก​หรือ​ถึง​กับ​ช่วย​เขา​ให้​เรียน​รู้​จัก​ตัว​เอง​และ​พัฒนา​ความ​เชื่อ​มั่น​ใน​ค่า​นิยม​ของ​เขา.

“เมื่อ​ฉัน​ทำ​ให้​ลูก ๆ เห็น​ว่า​ฉัน​เต็ม​ใจ​รับ​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​ของ​พวก​เธอ ลูก​ก็​ยอม​รับ​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​ของ​ฉัน​มาก​ขึ้น แม้​ว่า​เรา​จะ​คิด​ต่าง​กัน​ก็​ตาม. ฉัน​พยายาม​ไม่​บังคับ​ลูก​ให้​คิด​เหมือน​ฉัน แต่​ปล่อย​ให้​พวก​เธอ​เรียน​รู้​ที่​จะ​เชื่อ​มั่น​ใน​ความ​คิด​ของ​ตัว​เอง.”—อิ​วา​นา สาธารณรัฐ​เช็ก

หนักแน่น​แต่​มี​เหตุ​ผล

วัยรุ่น​บาง​คน​อาจ​ทำ​ตัว​เหมือน​เด็ก​เล็ก ๆ ที่​ชอบ​รบเร้า​เซ้าซี้​เพื่อ​ให้​คุณ​ยอม​ตาม​ใจ. ถ้า​ลูก​ของ​คุณ​ทำ​แบบ​นี้​บ่อย ๆ คุณ​ต้อง​ระวัง. แม้​ว่า​การ​ตาม​ใจ​ลูก​อาจ​เป็น​วิธี​แก้​ปัญหา​เฉพาะ​หน้า​ที่​ได้​ผล แต่​ถ้า​คุณ​ทำ​เช่น​นั้น​ก็​เท่า​กับ​สอน​ลูก​ให้​คิด​ว่า​การ​ต่อ​ล้อ​ต่อ​เถียง​เป็น​วิธี​ที่​เขา​จะ​ได้​สิ่ง​ที่​ต้องการ. วิธี​แก้​คือ​อะไร? ขอ​ให้​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “ให้​คำ​ของ​เจ้า​ที่​ว่า​ใช่ หมาย​ความ​ว่า​ใช่ ที่​ว่า​ไม่ หมาย​ความ​ว่า​ไม่.” (มัดธาย 5:37) ลูก​วัยรุ่น​มัก​จะ​ไม่​เซ้าซี้​หรือ​หา​เรื่อง​ทะเลาะ​กับ​คุณ ถ้า​เขา​รู้​ว่า​คุณ​เป็น​คน​ที่​พูด​คำ​ไหน​คำ​นั้น.

แต่​ขณะ​เดียว​กัน คุณ​เอง​ต้อง​มี​เหตุ​ผล. ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​อาจ​ให้​ลูก​วัยรุ่น​อธิบาย​ว่า​เขา​มี​เหตุ​ผล​อะไร​ที่​บาง​ครั้ง​ต้อง​กลับ​บ้าน​ดึก​กว่า​เวลา​ที่​กำหนด​ไว้. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​คุณ​ยอม​ใจ​อ่อน​เพราะ​ทน​การ​รบเร้า​ไม่​ไหว แต่​คุณ​กำลัง​ทำ​ตาม​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​แนะ​นำ​ไว้​ว่า “ให้​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คน​มี​เหตุ​ผล.”—ฟิลิปปอย 4:5

ลอง​วิธี​นี้: ให้​ทั้ง​ครอบครัว​นั่ง​คุย​กัน​เพื่อ​ตั้ง​กฎ​ใน​บ้าน เช่น เวลา​ที่​ลูก​ควร​กลับ​บ้าน. แสดง​ให้​ลูก​เห็น​ว่า​คุณ​ยินดี​รับ​ฟัง​และ​ชั่ง​ดู​เหตุ​ผล​ต่าง ๆ ก่อน​ตัดสิน​ใจ. โรเบอร์ตู พ่อ​คน​หนึ่ง​ใน​บราซิล​แนะ​นำ​ว่า “เด็ก​วัยรุ่น​ควร​ได้​เห็น​ว่า​พ่อ​แม่​พร้อม​จะ​อนุญาต​เสมอ ถ้า​สิ่ง​ที่​เขา​ขอ​ไม่​ขัด​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.”

จริง​อยู่ ไม่​มี​พ่อ​แม่​คน​ไหน​ที่​สมบูรณ์​แบบ. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “เรา​ต่าง​พลาด​พลั้ง​กัน​หลาย​ครั้ง.” (ยาโกโบ 3:2) ถ้า​คุณ​พบ​ว่า​ตัว​เอง​มี​ส่วน​ทำ​ให้​ลูก​วัยรุ่น​โต้​เถียง​กับ​คุณ อย่า​ลังเล​ที่​จะ​ขอ​โทษ​ลูก. การ​ที่​คุณ​ยอม​รับ​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​ตัว​เอง​ช่วย​สอน​บทเรียน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ​ให้​กับ​ลูก​และ​กระตุ้น​เขา​ให้​เลียน​แบบ​คุณ.

“ครั้ง​หนึ่ง​หลัง​จาก​ที่​ผม​ทะเลาะ​กับ​ลูก​ชาย พอ​ใจ​เย็น​ลง​แล้ว​ผม​ก็​ไป​ขอ​โทษ​ที่​อารมณ์​เสีย​ใส่​เขา. นั่น​ทำ​ให้​เขา​เอง​ก็​ใจ​เย็น​ลง​และ​ฟัง​ผม​มาก​ขึ้น.”—เคนจิ ญี่ปุ่น

^ วรรค 3 บาง​ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 10 คำ​แนะ​นำ​ใน​บทความ​นี้​ใช้​ได้​กับ​วัยรุ่น​ทั้ง​ชาย​และ​หญิง.

ถาม​ตัว​เอง​ว่า . . .

  • ฉัน​เอง​อาจ​มี​ส่วน​บ้าง​ไหม​ที่​ทำ​ให้​ลูก​วัยรุ่น​เถียง​กับ​ฉัน?

  • ฉัน​จะ​นำ​คำ​แนะ​นำ​ใน​บทความ​นี้​ไป​ใช้​ได้​อย่าง​ไร​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​ความ​สัมพันธ์​กับ​ลูก​วัยรุ่น?

  • ฉัน​จะ​พูด​คุย​กับ​ลูก​วัยรุ่น​โดย​ไม่​ต้อง​ทะเลาะ​กัน​ได้​อย่าง​ไร?