ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ลูกดื้อ สอนไม่จำ จะทำอย่างไร?

ลูกดื้อ สอนไม่จำ จะทำอย่างไร?

“ผมนั่งฟังเสียงรถที่แล่นผ่านไปผ่านมาอย่างเหลืออด สามครั้งแล้วที่จอร์แดนกลับบ้านผิดเวลา ผมได้แต่สงสัยว่า ‘เขาอยู่ไหน? จะเกิดเรื่องอะไรหรือเปล่า? เขาคิดบ้างไหมว่าพ่อแม่กำลังเป็นห่วง?’ พอเขากลับมาถึงบ้าน ผมก็เกือบจะระเบิดอารมณ์ใส่เขา”—จอร์จ

“ลูกสาวฉันร้องลั่น ฉันตกใจมาก พอหันไปดูก็เห็นเธอเอามือกุมหัวและร้องไห้ น้องชายอายุ 4 ขวบเพิ่งตีเธอ”—นิโคล

“นาตาลี ลูกสาวอายุ 6 ขวบของเราพูดว่า ‘หนูไม่ได้ขโมยแหวนนะ หนูเก็บได้!’ เธอมองเราด้วยดวงตากลมโตที่ดูใสซื่อแต่ก็ยังปากแข็งไม่ยอมรับผิด เราเจ็บปวดใจจนน้ำตาไหลเพราะเรารู้ว่าลูกโกหก”—สตีเฟน

ถ้าคุณมีลูก คุณคงพอจะนึกออกว่าพ่อแม่ที่เล่าเรื่องเหล่านี้ให้เราฟังน่าจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเจอเรื่องคล้าย ๆ กัน คุณอาจนึกสงสัยว่าจะสอนลูกอย่างไรให้เชื่อฟัง? ผิดไหมที่จะลงโทษลูก?

การสั่งสอนหมายถึงอะไร?

ในคัมภีร์ไบเบิลคำว่า “การสั่งสอน” ไม่ได้เป็นเพียงอีกคำหนึ่งที่หมายถึงการลงโทษ จริง ๆ แล้วความหมายหลักของคำนี้เกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำ การสอน และการแก้ไข แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายทารุณเลย—สุภาษิต 4:1, 2

การสั่งสอนลูกเทียบได้กับการดูแลต้นไม้ ชาวสวนต้องเตรียมดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง แล้วก็ถอนวัชพืชด้วย พอต้นไม้โตขึ้น เขาก็ต้องตัดแต่งกิ่งเพื่อให้มันงอกงามตามต้องการ ชาวสวนรู้ดีว่าต้องใช้หลายวิธีเพื่อจะดูแลรักษาต้นไม้ให้เติบโตและแข็งแรง พ่อแม่ก็ต้องใช้หลายวิธีเพื่อดูแลและช่วยลูก เหมือนกับการตัดแต่งกิ่ง บางครั้งพ่อแม่ก็ต้องสั่งสอนลูกเพื่อแก้ไขความคิดผิด ๆ ที่มีอยู่ในหัวใจลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ และช่วยให้ลูกเติบโตในทางที่ถูกต้อง แต่การตัดแต่งกิ่งต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้ต้นไม้ไม่งอกงาม พ่อแม่ก็ต้องสั่งสอนลูกในวิธีที่ถูกต้องด้วยความรักเช่นกัน

พระยะโฮวาพระเจ้าที่ให้คัมภีร์ไบเบิลกับเราเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพ่อแม่ พระยะโฮวาสั่งสอนคนที่เชื่อฟังพระองค์ คำสอนของพระองค์ใช้ได้จริงและทำให้เกิดผลดีจนพวกเขาพูดว่า ‘รัก คำสั่งสอน’ ของพระองค์ (สุภาษิต 12:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) พวกเขา “ยึดคำสอนไว้ให้มั่น” และ ‘ไม่ปล่อยให้หลุดมือไป’ (สุภาษิต 4:13, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) คุณจะช่วยลูกให้เชื่อฟังและยอมรับการสั่งสอนของคุณได้โดยเลียนแบบหลักการสอน 3 ข้อของพระเจ้า คือ (1) สอนด้วยความรัก (2) สอนด้วยเหตุผล (3) สอนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

สอนด้วยความรัก

ความรักเป็นทั้งพื้นฐานและเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้พระเจ้าอยากสั่งสอนเรา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ผู้ใดที่พระยะโฮวาทรงรักพระองค์ทรงเตือนสอนผู้นั้น เช่นบิดากระทำต่อบุตรที่ตน ชื่นชม” (สุภาษิต 3:12) นอกจากนี้ พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ “เมตตากรุณา ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน” (เอ็กโซโด 34:6) ดังนั้น พระยะโฮวาไม่เคยใช้ความโหดร้ายทารุณ ไม่ใช้คำพูดแรง ๆ ไม่หาเรื่องตำหนิ และไม่ประชดประชันให้เจ็บใจ เพราะทั้งหมดนี้เป็นเหมือน “การแทงของกระบี่”—สุภาษิต 12:18

ฟังลูก

จริงอยู่ที่พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้สมบูรณ์แบบเหมือนพระเจ้า บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าอดทนจนถึงขีดสุดแล้ว แต่ขอให้จำไว้เสมอว่า ในช่วงที่กำลังมีปัญหาหนัก ๆ เพราะลูกดื้อมาก การลงโทษลูกด้วยความโมโหจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะทำให้ทุกข์ใจและรู้สึกว่ายากเกินจะรับไหว นอกจากนั้น ถ้าคุณลงโทษลูกเพราะความโกรธหรือความเครียด นั่นไม่ใช่การสั่งสอนแต่เป็นเพราะคุณควบคุมตัวเองไม่ได้

แต่ถ้าคุณบังคับตัวเองได้และสั่งสอนลูกด้วยความรักก็จะได้ผลดีกว่ามาก ลองอ่านดูว่าจอร์จกับนิโคล พ่อแม่ที่เราพูดถึงในตอนต้นจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

อธิษฐานกับลูก

“ตอนที่จอร์แดนกลับมาถึงบ้าน ผมกับภรรยากำลังโมโหสุด ๆ เราพยายามข่มใจฟังเขาอธิบาย แต่เพราะมันดึกมากแล้วเราเลยตกลงว่าจะคุยเรื่องนี้กันตอนเช้า เราอธิษฐานด้วยกันแล้วก็ไปนอน วันรุ่งขึ้น พอใจเย็นลงเราก็คุยกับลูกชายได้โดยไม่ทะเลาะกัน เขาสำนึกผิดและเต็มใจยอมรับการลงโทษ เราเข้าใจว่าการแสดงอาการโกรธออกมาทันที จะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น แต่ถ้าเราฟังเรื่องราวก่อน ผลจะออกมาดีที่สุดเสมอ”—จอร์จ

คุยกับลูก

“ฉันโมโหสุด ๆ ที่เห็นลูกชายรังแกลูกสาวและทำให้เธอเจ็บ แต่ฉันก็ไม่ได้ตรงเข้าไปจัดการกับลูกชายตอนนั้น ฉันบอกให้เขากลับไปรอที่ห้องเพราะตอนนั้นฉันโกรธจนหน้ามืดและกลัวว่าตัวเองจะทำอะไรรุนแรงลงไป แต่พอใจเย็นลง ฉันก็อธิบายกับเขาอย่างจริงจังว่าเขาจะใช้กำลังกับคนอื่นไม่ได้และบอกให้เขารู้ว่าเขาทำให้พี่สาวเจ็บมากขนาดไหน วิธีนี้ได้ผล เขาขอโทษพี่แล้วก็กอดเธอ”—นิโคล

ใช่แล้ว การสั่งสอนที่ดีต้องสอนด้วยความรักเสมอ ไม่ว่าจะมีการลงโทษหรือไม่ก็ตาม

สอนด้วยเหตุผล

การสั่งสอนของพระยะโฮวาเป็นการ ‘ตีสอนตามขนาด’ (ยิระมะยา 30:11; 46:28, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 ) พระองค์มองดูภาพรวมและรายละเอียดทั้งหมดที่ เกี่ยวข้อง พ่อแม่จะทำเหมือนพระยะโฮวาได้อย่างไร? สตีเฟนที่เราพูดถึงในตอนต้นบทความนี้อธิบายว่า “ถึงแม้เราเสียใจมากและไม่เข้าใจเลยว่าทำไมนาตาลีไม่ยอมรับว่าเธอขโมยแหวน เราก็พยายามคิดว่าเธอยังเด็กและคิดไม่เป็น”

โรเบิร์ต สามีของนิโคลบอกว่า พ่อแม่ต้องพยายามคิดถึงทุกอย่างที่อาจเกี่ยวข้องด้วย ถ้าลูกทำผิด เขามักจะถามตัวเองว่า ‘ลูกทำแบบนี้แค่ครั้งเดียวหรือทำจนเป็นนิสัย? ลูกเหนื่อยหรือไม่สบายไหม? การกระทำแบบนี้เป็นอาการที่ส่อว่าลูกมีปัญหาอย่างอื่นหรือเปล่า?’

พ่อแม่ที่มีเหตุผลรู้ว่าเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก เปาโลสาวกคนสนิทของพระเยซูก็ยอมรับความจริงข้อนี้ตอนที่เขาเขียนว่า “ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก ข้าพเจ้าเคยพูดอย่างเด็ก คิดอย่างเด็ก หาเหตุผลอย่างเด็ก” (1 โครินท์ 13:11) โรเบิร์ตบอกอีกด้วยว่า “พอคิดถึงสิ่งที่ผมเคยทำตอนเป็นเด็ก มันก็ช่วยให้ผมมองเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลและสงบสติอารมณ์ได้มากขึ้น”

คุณต้องมองเรื่องที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แต่ก็ต้องไม่ปล่อยปละละเลยเมื่อเห็นว่าลูกทำผิดหรือมีความคิดที่ไม่ถูก ถ้าคุณคิดถึงความสามารถและข้อจำกัดของลูก รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณจะมั่นใจได้ว่าการสั่งสอนของคุณจะเป็นแบบที่เหมาะสมและมีเหตุผล

สอนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ที่มาลาคี 3:6 ว่า “เรายะโฮวา ไม่กลับกลอก” ผู้รับใช้ของพระเจ้าไว้ใจความจริงข้อนี้และรู้สึกอุ่นใจที่ได้รู้อย่างนี้ พ่อแม่ต้องสั่งสอนลูกอย่างเสมอต้นเสมอปลายและชัดเจน เพื่อลูกจะรู้ว่าเขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ถ้ากฎเกณฑ์ของคุณเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามอารมณ์ ลูกก็จะรู้สึกเครียดและสับสน

ขอให้นึกถึงคำพูดของพระเยซูที่บอกว่า “ให้คำของเจ้าที่ว่า ‘ใช่’ หมายความว่าใช่ ที่ว่า ‘ไม่’ หมายความว่าไม่” หลักการนี้ใช้ได้กับการสั่งสอนลูกด้วย (มัดธาย 5:37) ก่อนยื่นคำขาดกับลูก คิดให้ดี ๆ ว่าคุณตั้งใจจะทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า อย่าพูดส่งเดช และเมื่อคุณบอกลูกว่าจะลงโทษถ้าเขาทำผิด คุณก็ต้องทำตามที่พูดไว้

พ่อแม่เองก็ต้องคุยกันเป็นประจำเพื่อจะสามารถสั่งสอนลูกได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย โรเบิร์ตบอกว่า “ถ้าลูก ๆ มาขออะไรสักอย่างจากผม แล้วผมอนุญาตเพราะไม่รู้ว่าภรรยาบอกลูกไปแล้วว่าไม่ได้ ผมก็จะพูดกับลูกใหม่ว่า ให้ทำตามที่แม่บอก” ถ้าพ่อแม่คิดเห็นต่างกันเมื่อต้องจัดการกับเรื่องบางเรื่อง นับว่าดีที่ทั้งคู่จะคุยกันนอกรอบก่อนเพื่อจะได้ตัดสินใจตรงกัน

การสั่งสอนลูกเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าคุณเลียนแบบการสั่งสอนของพระยะโฮวาโดยสอนด้วยความรัก สอนด้วยเหตุผล และสอนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คุณก็มั่นใจได้ว่าความพยายามของคุณจะเป็นผลดีกับลูก การให้คำแนะนำด้วยความรักจะทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี รู้จักรับผิดชอบและคิดเป็น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น และเมื่อแก่ชราแล้วเขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น”—สุภาษิต 22:6