ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฉบับเพชิตตาภาษาซีเรียโบราณ ประตูสู่โลกของการแปลคัมภีร์ไบเบิลในยุคแรก ๆ

ฉบับเพชิตตาภาษาซีเรียโบราณ ประตูสู่โลกของการแปลคัมภีร์ไบเบิลในยุคแรก ๆ

ในปี ค.ศ. 1892 สองพี่น้องฝาแฝด ชื่อแอกเนส สมิท ลูอิสและมาร์กาเร็ต ดันลอป กิบสัน ขี่อูฐเดินทางผ่านทะเลทรายถึง 9 วันเพื่อไปอารามเซนต์ แคเทอรีน ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาไซนาย ทำไมผู้หญิงสองคนที่อายุเกือบ 50 ปีแล้วยังต้องเดินทางไปแถบซีกโลกตะวันออกซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่ที่รู้กันว่าอันตราย? ถ้าคุณรู้เหตุผล คุณจะเชื่อมั่นในความถูกต้องของคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น

แอกเนส สมิท ลูอิส และอารามเซนต์ แคเทอรีน

ก่อนที่พระเยซูจะกลับไปสวรรค์ ท่านสั่งศิษย์ให้ประกาศ “ในกรุงเยรูซาเลมและทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นซะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (กิจการ 1:8) พวกศิษย์ของท่านประกาศด้วยความกระตือรือร้นและกล้าหาญ แต่ไม่นานหลังจากนั้น มีการต่อต้านงานประกาศของพวกเขาอย่างรุนแรงในกรุงเยรูซาเลม ถึงขั้นที่สเตฟาโนถูกฆ่า ทำให้พวกเขาต้องหนีไปเมืองอันทิโอก แคว้นซีเรีย ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งในจักรวรรดิโรมัน อยู่ห่างจากเยรูซาเลมไปทางเหนือประมาณ 550 กิโลเมตร—กิจการ 11:19

ศิษย์ของพระเยซูยังคงประกาศ “ข่าวดี” เรื่องพระเยซูในเมืองอันทิโอกต่อไปและมีชาวต่างชาติหลายคนเข้ามาเชื่อ (กิจการ 11:20, 21) ถึงแม้ว่าภาษากรีกเป็นภาษากลางที่ใช้ในเมืองอันทิโอก แต่คนที่อยู่นอกเมืองมักใช้ภาษาซีเรีย

แปลข่าวดีเป็นภาษาซีเรีย

ในศตวรรษที่สอง เมื่อคริสเตียนที่พูดภาษาซีเรียมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงต้องมีการแปลข่าวดีเป็นภาษาของพวกเขา ดังนั้น ดูเหมือนว่ามีการแปลพระ คัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาซีเรียก่อน ไม่ใช่ภาษาละติน

ประมาณปี ค.ศ. 170 นักเขียนชาวซีเรียชื่อทาเชียน (ประมาณ ค.ศ. 120-173) ได้รวบรวมกิตติคุณทั้งสี่ในสารบบพระคัมภีร์ซึ่งเขียนในภาษากรีกหรือซีเรียโบราณใช้ชื่อว่า ดิอาเทสซาโรน ซึ่งเป็นคำภาษากรีกที่แปลว่า “จากประจักษ์พยานทั้งสี่” ต่อมา ชาวซีเรียชื่ออีฟรีม (ประมาณ ค.ศ. 310-373) ได้เขียนความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับดิอาเทสซาโรน ซึ่งเป็นการยืนยันว่ามีการใช้ฉบับแปลนี้ทั่วไปในหมู่คริสเตียนชาวซีเรีย

ในทุกวันนี้ทำไมเราควรสนใจดิอาเทสซาโรน? ในศตวรรษที่ 19 นักวิชาการบางคนแย้งว่าหนังสือกิตติคุณเขียนขึ้นตอนปลายศตวรรษที่สองระหว่างปี 130-170 จึงทำให้เรื่องราวชีวิตจริงของพระเยซูไม่น่าเชื่อถือ แต่พอมีการค้นพบสำเนาพระคัมภีร์สมัยโบราณของดิอาเทสซาโรน ก็ทำให้รู้ว่าหนังสือกิตติคุณของมัดธาย มาระโก ลูกา และโยฮันมีใช้กันแล้วอย่างกว้างขวางเรื่อยมาจนถึงกลางศตวรรษที่สอง นี่แสดงว่าหนังสือกิตติคุณต้องเขียนก่อนหน้านั้นแล้ว นอกจากนั้น เมื่อทาเชียนรวบรวมดิอาเทสซาโรน เขาใช้กิตติคุณทั้งสี่เป็นหลักและแทบไม่ได้ใช้กิตติคุณอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้เลย นี่เป็นหลักฐานว่ากิตติคุณนอกสารบบไม่ได้เป็นข้อเขียนที่ผู้คนยอมรับและไม่ได้เป็นส่วนของคัมภีร์ไบเบิล

เพนทาทุก ฉบับเพชิตตา ในภาษาซีเรีย ปี ค.ศ. 464 เป็นสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดอันดับสอง

ในตอนเริ่มต้นศตวรรษที่ 5 มีการใช้พระคัมภีร์ในภาษาซีเรียทั่วไปในตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย ชื่อว่าฉบับเพชิตตา หมายความว่า “ง่าย” หรือ “ชัดเจน” เป็นไปได้ว่ามีการแปลฉบับนี้ในช่วงศตวรรษที่ 2 หรือ 3 ซึ่งรวมหนังสือทุกเล่มของพระคัมภีร์ยกเว้นหนังสือเปโตรฉบับที่ 2 หนังสือโยฮันฉบับ 2 และ 3 หนังสือยูดา และหนังสือวิวรณ์ ฉบับเพชิตตา เป็นหลักฐานเก่าแก่และสำคัญมากที่สุดฉบับหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ามีการเริ่มใช้คัมภีร์ไบเบิลในฉบับแปลอื่นตั้งแต่ยุคแรก ๆ

สำเนาของฉบับเพชิตตา ฉบับหนึ่งได้ระบุเวลาไว้คือปี 459/460 นี่เป็นฉบับเก่าแก่ที่สุดซึ่งมีการระบุเวลาไว้ ต่อมาประมาณปี 508 มีการปรับปรุงฉบับเพชิตตา ซึ่งให้ชื่อว่าฉบับแปลฟิโลซีเนียน เป็นฉบับที่รวมหนังสือห้าเล่มที่ขาดไปเข้าไว้ด้วย

ค้นพบสำเนาพระคัมภีร์ภาษาซีเรียมากขึ้น

ในศตวรรษที่ 19 สำเนาพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่เขียนในภาษากรีกส่วนใหญ่เท่าที่มีอยู่มาจากศตวรรษที่ห้าหรือหลังจากนั้น นี่ทำให้นักวิชาการด้านพระคัมภีร์สนใจฉบับที่เก่าแก่กว่านั้น เช่น ฉบับละตินวัลเกต และฉบับเพชิตตา ในภาษาซีเรีย ในตอนนั้น บางคนเชื่อว่าฉบับเพชิตตา เป็นฉบับปรับปรุงจากฉบับที่เก่ากว่า แต่ไม่เคยมีการค้นพบฉบับที่เก่ากว่านั้น เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลภาษาซีเรียมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ฉบับที่เก่ากว่านั้นก็จะช่วยให้เราเข้าใจข้อความของคัมภีร์ไบเบิลในยุคแรก ๆ และนักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลคงต้องถือว่าฉบับนั้นมีค่ามากแน่ ๆ แต่ฉบับที่เก่ากว่าฉบับเพชิตตามีอยู่จริง ๆ ไหม? เคยมีการค้นพบไหม?

สำเนาพระคัมภีร์ที่ถูกลบข้อความออกไปที่เรียกว่าฉบับไซนายติกในภาษาซีเรีย ด้านข้างมีข้อความจากหนังสือกิตติคุณที่ถูกเขียนทับ

ที่จริง มีการค้นพบสำเนาพระคัมภีร์ 2 ฉบับที่มีค่าในภาษาซีเรียโบราณ ฉบับแรกเป็นหนึ่งในสำเนาจำนวนมากของสำเนาพระคัมภีร์ภาษาซีเรียที่ย้อนไปในศตวรรษที่ 5 ซึ่งค้นพบจากอารามที่อยู่ในทะเลทรายนีเทรียน ประเทศอียิปต์ และได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตนตั้งแต่ปี 1842 ฉบับนี้ถูกเรียกว่าเคอร์โตเนียนในภาษาซีเรียก็เพราะวิลเลียม เคอตัน เป็นคนค้นพบและเผยแพร่ เขาเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสำเนาพระคัมภีร์ ฉบับนี้มีหนังสือกิตติคุณ 4 เล่มตามลำดับนี้คือ มัดธาย มาระโก โยฮัน และลูกา

สำเนาพระคัมภีร์ฉบับที่สองที่ถูกค้นพบในสมัยของเราคือ ฉบับไซนายติกในภาษาซีเรีย ผู้ที่ค้นพบคือสองพี่น้องฝาแฝดที่ได้พูดถึงในตอนต้นของบทความนี้ แม้ว่าแอกเนสไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัย แต่เธอเรียนภาษาต่างประเทศถึง 8 ภาษา หนึ่งในนั้นคือภาษาซีเรีย ในปี 1892 แอกเนสได้ค้นพบสิ่งที่น่าทึ่งในอารามเซนต์ แคเทอรีน ประเทศอียิปต์

 เธอได้พบสำเนาพระคัมภีร์ภาษาซีเรียที่อยู่ในตู้มืด ๆ บันทึกของเธอเขียนไว้ว่า “สำเนานั้นไม่น่าดูเพราะสกปรกมาก แต่ละหน้าก็ติดกันเพราะถูกทิ้งไว้นาน” นับร้อย ๆ ปี เป็นสำเนาที่ข้อความเดิมถูกลบออกไปและถูกเขียนทับเป็นภาษาซีเรียด้วยข้อความใหม่เกี่ยวกับนักบุญหญิงหลายคน ถึงอย่างนั้น แอกเนสก็มองเห็นข้อความเก่าบางข้อความที่ถูกเขียนทับ และเห็นด้านบนของหน้ามีคำว่า “ของมัดธาย” “ของมาระโก” หรือ “ของลูกา” สิ่งที่อยู่ในมือเธอคือโคเดกซ์ในภาษาซีเรียซึ่งเป็นกิตติคุณทั้งสี่เกือบทั้งหมด นักวิชาการเชื่อว่าโคเดกซ์เล่มนี้เขียนขึ้นตอนปลายของศตวรรษที่ 4

ฉบับไซนายติกในภาษาซีเรียได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในสำเนาพระคัมภีร์ฉบับที่สำคัญพอ ๆ กับสำเนาพระคัมภีร์ฉบับโคเดกซ์ไซนายติคุสและโคเดกซ์วาติกานุสในภาษากรีก โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่าทั้งสำเนาพระคัมภีร์เคอร์โตเนียนและไซนายติกเป็นสำเนาที่ยังเหลืออยู่ของหนังสือกิตติคุณในภาษาซีเรียที่เก่าแก่ย้อนไปถึงปลายศตวรรษที่ 2 หรือต้นศตวรรษที่ 3

“พระดำรัสของพระเจ้าของเราจะยั่งยืนอยู่เป็นนิจ”

สำเนาพระคัมภีร์นี้เป็นประโยชน์กับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในทุกวันนี้อย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับใส่คำลงท้ายแบบยาวในกิตติคุณมาระโกหลังจากมาระโก 16:8 ข้อความนั้นมีอยู่ในโคเดกซ์อะเล็กซานดรินุสในภาษากรีกของศตวรรษที่ 5 และฉบับละตินวัลเกต รวมทั้งฉบับอื่นอีก แต่สำเนาฉบับโคเดกซ์ไซนายติคุสและโคเดกซ์วาติกานุสในภาษากรีกซึ่งเป็น 2 ฉบับที่ผู้คนยอมรับในศตวรรษที่ 4 ทั้งสองฉบับจบที่มาระโก 16:8 และไม่มีคำลงท้ายแบบยาว ฉบับไซนายติกก็ไม่มีคำลงท้ายแบบยาวเหมือนกัน แสดงว่าข้อความเหล่านั้นได้เพิ่มเข้ามาทีหลัง ไม่ได้มีอยู่ในต้นฉบับของกิตติคุณมาระโก

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในศตวรรษที่ 19 ฉบับแปลต่าง ๆ เกือบทุกฉบับได้เพิ่มคำสอนที่ไม่ถูกต้องเรื่องตรีเอกานุภาพใน 1 โยฮัน 5:7 แต่ในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในภาษากรีกไม่มีข้อความที่เพิ่มมานั้นเลย และในฉบับเพชิตตา ก็ไม่มีด้วย การเพิ่มข้อความเข้าไปใน 1 โยฮัน 5:7 จึงเป็นการบิดเบือนข้อความในคัมภีร์ไบเบิล

เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาพระเจ้ารักษาถ้อยคำที่บริสุทธิ์ของพระองค์ตามที่สัญญาไว้ คัมภีร์ไบเบิลมีคำรับรองดังนี้ “หญ้านั้นก็เหี่ยวแห้ง และดอกไม้ก็ร่วงโรยไป แต่พระดำรัสของพระเจ้าของเราจะยั่งยืนอยู่เป็นนิจ” (ยะซายา 40:8; 1 เปโตร 1:25) สำเนาพระคัมภีร์ที่รู้จักกันว่าฉบับเพชิตตา แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสำเนาพระคัมภีร์ที่ค้นพบมากมายแต่ก็มีบทบาทสำคัญมากในการแปลข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลเพื่อเราทุกคน