ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ก๊าซธรรมชาติ—พลังงานที่นำมาใช้ในบ้าน

ก๊าซธรรมชาติ—พลังงานที่นำมาใช้ในบ้าน

ก๊าซ​ธรรมชาติ—พลัง​งาน​ที่​นำ​มา​ใช้​ใน​บ้าน

ก๊าซ​ธรรมชาติ​สามารถ​ตอบ​สนอง​ความ​ต้องการ​พลัง​งาน​ของ​โลก​ได้​มาก​กว่า 20 เปอร์เซ็นต์. ก๊าซ​ธรรมชาติ​มา​จาก​แหล่ง​ใด? พลัง​งาน​ชนิด​นี้​สะอาด​เพียง​ไร? และ​ยัง​คง​มี​เหลือ​อยู่​มาก​น้อย​เท่า​ไร?

นัก​วิทยาศาสตร์​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​หลาย​ล้าน​ปี​ที่​แล้ว​ก๊าซ​ธรรมชาติ​เกิด​ขึ้น​จาก​ซาก​พืช​ซาก​สัตว์​ที่​เน่า​เปื่อย รวม​ทั้ง​แพลงก์ตอน. ตาม​ทฤษฎี​นี้ เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​นาน​มาก จุลชีพ​พร้อม​ทั้ง​ความ​ดัน​จาก​ตะกอน​ที่​ทับ​ถม​อยู่​ด้าน​บน​และ​ความ​ร้อน​จาก​ใต้​ดิน ได้​เปลี่ยน​ซาก​พืช​ซาก​สัตว์​เหล่า​นั้น​ให้​เป็น​เชื้อเพลิง​ฟอสซิล เช่น ถ่าน​หิน, ก๊าซ, และ​น้ำมัน​ปิโตรเลียม. ต่อ​มา ก๊าซ​ปริมาณ​มาก​จะ​แทรกซึม​เข้า​ไป​ใน​หิน​ที่​มี​รู​พรุน บาง​ครั้ง​กลาย​เป็น​แหล่ง​ก๊าซ​ขนาด​ใหญ่ ซึ่ง​กั้น​ไว้​ด้วย​ชั้น​หิน​ที่​ก๊าซ​ซึม​ออก​มา​ไม่​ได้. แหล่ง​ก๊าซ​บาง​แหล่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก และ​มี​ก๊าซ​อยู่​หลาย​ล้าน​ล้าน​ลูก​บาศก์​เมตร. จะ​ค้น​พบ​แหล่ง​ก๊าซ​เหล่า​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

การ​ค้น​หา​ก๊าซ​ธรรมชาติ

ดาว​เทียม​ที่​รับ​รู้​จาก​ระยะ​ไกล, ระบบ​กำหนด​ตำแหน่ง​บน​โลก, คลื่น​ไหว​สะเทือน​แบบ​สะท้อน, และ​คอมพิวเตอร์ ทำ​ให้​ไม่​จำเป็น​ต้อง​คาด​เดา​อีก​ต่อ​ไป​ว่า​แหล่ง​ก๊าซ​มี​อยู่​ที่​ใด​บ้าง. คลื่น​ไหว​สะเทือน​แบบ​สะท้อน​อาศัย​หลักการ​ที่​ว่า​เสียง​จะ​สะท้อน​จาก​ชั้น​หิน​ใต้​พื้น​โลก และ​ทำ​ให้​นัก​วิทยาศาสตร์​รู้​ได้​ว่า​มี​อะไร​อยู่​ใต้​พื้น​ดิน. เสียง​นั้น​เกิด​จาก​ฝีมือ​ของ​มนุษย์ โดย​ปกติ​จะ​ใช้​ระเบิด​ขนาด​ย่อม​หรือ​เครื่อง​สั่น​สะเทือน​ที่​ติด​ไว้​กับ​รถ​บรรทุก​ชนิด​พิเศษ. คลื่น​กระแทก​ที่​เกิด​ขึ้น​จะ​ผ่าน​ลง​ไป​ใต้​เปลือก​โลก​และ​สะท้อน​กลับ​เข้า​สู่​อุปกรณ์​ที่​คอย​จับ​สัญญาณ​อยู่ ซึ่ง​ช่วย​นัก​วิทยาศาสตร์​สร้าง​แบบ​จำลอง​คอมพิวเตอร์​สาม​มิติ​ของ​ชั้น​หิน. แล้ว​แบบ​จำลอง​เหล่า​นี้​อาจ​ระบุ​บริเวณ​ที่​เป็น​แหล่ง​ก๊าซ​ได้.

ใน​การ​สำรวจ​ทาง​ทะเล มี​การ​สร้าง​คลื่น​เสียง​ด้วย​ปืน​ชนิด​พิเศษ​ที่​ยิง​ลม​อัด, ไอ​น้ำ, หรือ​น้ำ​ลง​ไป​ใน​ทะเล. คลื่น​ความ​ดัน​ที่​เกิด​ขึ้น​จะ​พุ่ง​ลง​สู่​ก้น​ทะเล​แล้ว​สะท้อน​กลับ​ขึ้น​มา​สู่​อุปกรณ์​ไฮโดรโฟน​ที่​ติด​ไว้​กับ​สาย​เคเบิล​ยาว ๆ ที่​ถูก​ลาก​อยู่​ด้าน​หลัง​เรือ​สำรวจ. นัก​วิจัย​ใช้​สัญญาณ​เหล่า​นี้​สร้าง​แบบ​จำลอง​เพื่อ​การ​วิเคราะห์​เช่น​เดียว​กัน.

เพื่อ​ให้​คุ้ม​กับ​ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​การ​ขุด​เจาะ แหล่ง​ก๊าซ​นั้น​ต้อง​มี​ก๊าซ​มาก​พอ. ดัง​นั้น นัก​ธรณี​วิทยา​จึง​ต้อง​ตรวจ​ให้​รู้​แน่​ทั้ง​ความ​ดัน​และ​ปริมาตร​ของ​แหล่ง​ก๊าซ. พวก​เขา​สามารถ​วัด​ความ​ดัน​ได้​ค่อนข้าง​ถูก​ต้อง​ด้วย​เครื่องวัด. แต่​การ​จะ​รู้​ปริมาตร​ที่​แท้​จริง​นั้น​ยาก​กว่า. วิธี​หนึ่ง​คือ​การ​อ่าน​ค่า​ความ​ดัน​เริ่ม​แรก จาก​นั้น​ปล่อย​ก๊าซ​ออก​มา​ส่วน​หนึ่ง​โดย​ที่​วัด​ปริมาตร​ไว้ แล้ว​ก็​วัด​ความ​ดัน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. ถ้า​ความ​ดัน​ลด​ลง​เพียง​เล็ก​น้อย แสดง​ว่า​เป็น​แหล่ง​ใหญ่; แต่​ถ้า​ความ​ดัน​ลด​ลง​มาก ก็​แสดง​ว่า​เป็น​แหล่ง​เล็ก ๆ.

การ​ทำ​ให้​ก๊าซ​พร้อม​ใช้

หลัง​จาก​ได้​ก๊าซ​ธรรมชาติ​แล้ว ก็​จะ​ส่ง​ไป​ตาม​ท่อ​สู่​โรง​แยก​ก๊าซ​เพื่อ​ขจัด​สาร​เคมี​ที่​ไม่​ต้องการ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, ไฮโดรเจน​ซัลไฟด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวม​ทั้ง​ไอ​น้ำ​ซึ่ง​กัด​กร่อน​ท่อ​ได้. แล้ว​จึง​มี​การ​กลั่น​ก๊าซ​ธรรมชาติ​ใน​อุณหภูมิ​ที่​ต่ำ​มาก​เพื่อ​ขจัด​ไนโตรเจน​ที่​ไม่​ติด​ไฟ และ​สกัด​เอา​ฮีเลียม, บิวเทน, อีเทน, และ​โพรเพน​ออก​มา. ผล​ผลิต​ที่​ได้​ก็​คือ​มีเทน​บริสุทธิ์​ซึ่ง​ไม่​มี​สี ไม่​มี​กลิ่น และ​ติด​ไฟ​ได้​ง่าย​มาก. เนื่อง​จาก​มีเทน​เป็น​ผล​ผลิต​จาก​ธรรมชาติ จึง​เรียก​กัน​ด้วย​ว่า​ก๊าซ​ธรรมชาติ.

เพื่อ​ให้​ก๊าซ​ธรรมชาติ​ปลอด​ภัย​สำหรับ​ใช้​ตาม​บ้าน ผู้​ผลิต​เติม​สาร​ประกอบ​ซัลเฟอร์​ที่​มี​กลิ่น​เหม็น​ลง​ไป​เล็ก​น้อย เพื่อ​จะ​รู้​ได้​ง่าย​ถ้า​ก๊าซ​รั่ว​และ​จะ​ปิด​ได้​ก่อน​เกิด​การ​ระเบิด. กระนั้น​ก็​ดี ก๊าซ​ธรรมชาติ​เป็น​เชื้อเพลิง​ที่​สะอาด​กว่า​เชื้อเพลิง​ฟอสซิล​อื่น ๆ มาก เช่น ถ่าน​หิน​และ​น้ำมัน.

เพื่อ​จะ​ขน​ส่ง​ได้​สะดวก ก๊าซ​ธรรมชาติ​บาง​ชนิด​ถูก​ลด​อุณหภูมิ​ลง​จน​ต่ำ​มาก​แล้ว​เปลี่ยน​เป็น​ก๊าซ​ธรรมชาติ​เหลว. บิวเทน​และ​โพรเพน​มัก​จะ​ถูก​ใช้​เป็น​แก๊ส​ปิโตรเลียม​เหลว (แอลพีจี) ซึ่ง​ใคร​ที่​ชอบ​ย่าง​บาร์บีคิว​ด้วย​แก๊ส​กระป๋อง​จะ​รู้​จัก​แก๊ส​ชนิด​นี้​ดี. โดย​ทั่ว​ไป แก๊ส​แอลพีจี​ยัง​ถูก​นำ​ไป​ใช้​เป็น​เชื้อเพลิง​สำหรับ​รถ​ประจำ​ทาง, รถ​แทรกเตอร์, รถ​บรรทุก, และ​ยาน​พาหนะ​อื่น ๆ. ทาง​ด้าน​เคมี บิวเทน​และ​โพรเพน​ถูก​นำ​ไป​ใช้​ใน​ผลิตภัณฑ์​พลาสติก, ตัว​ทำ​ละลาย, เส้นใย​สังเคราะห์, และ​ผลิตภัณฑ์​อินทรีย์​อื่น ๆ.

แหล่ง​พลัง​งาน​ที่​มี​วัน​หมด

เช่น​เดียว​กับ​เชื้อเพลิง​ฟอสซิล​ทุก​ชนิด ก๊าซ​ธรรมชาติ​เป็น​ทรัพยากร​ที่​มี​วัน​จะ​หมด​ไป​ได้. ตาม​การ​คาด​คะเน ขณะ​นี้​ยัง​คง​มี​ก๊าซ​ธรรมชาติ​เหลือ​อยู่​ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์​ของ​ก๊าซ​ที่​จะ​นำ​ขึ้น​มา​ใช้​ได้​ใน​โลก. ถ้า​ตัว​เลข​นี้​ถูก​ต้อง ด้วย​อัตรา​การ​ใช้​ใน​ปัจจุบัน ก๊าซ​อาจ​จะ​หมด​ไป​ใน​เวลา​ประมาณ 60 ปี. แต่​หลาย​ประเทศ​กำลัง​บริโภค​พลัง​งาน​เพิ่ม​ขึ้น การ​คาด​คะเน​ใน​ปัจจุบัน​จึง​อาจ​ผิด​พลาด​ได้​มาก.

แน่นอน การ​พัฒนา​ทาง​อุตสาหกรรม​อย่าง​ไม่​หยุด​ยั้ง​ใน​บาง​ประเทศ​อาจ​ทำ​ให้​คน​เรา​คิด​ว่า​ทรัพยากร​ของ​โลก​ไม่​มี​วัน​หมด. จริง​อยู่ ยัง​มี​พลัง​งาน​นิวเคลียร์​และ​พลัง​งาน​ที่​นำ​กลับ​มา​ใช้​ใหม่​ได้ เช่น พลัง​งาน​แสง​อาทิตย์​และ​พลัง​งาน​ลม. แต่​พลัง​งาน​เหล่า​นี้​จะ​สามารถ​ตอบ​สนอง​ความ​ต้องการ​พลัง​งาน​ที่​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​ได้​ไหม? และ​จะ​เป็น​มิตร​กับ​สิ่ง​แวด​ล้อม​และ​ปลอด​ภัย​หรือ​ไม่? เวลา​เท่า​นั้น​จะ​บอก​ได้.

[แผน​ภาพ/ภาพ​หน้า 14]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

หลัง​จาก​ได้​ก๊าซ​ธรรมชาติ​แล้ว ก็​จะ​ส่ง​ไป​ตาม​ท่อ​สู่​โรง​แยก​ก๊าซ ซึ่ง​จะ​ผ่าน​กระบวนการ​เพื่อ​จ่าย​ไป​ตาม​บ้าน​เรือน​และ​ภาค​ธุรกิจ​ต่าง ๆ

[แผน​ภาพ]

หลุม​ก๊าซ

โรง​แยก​ก๊าซ

บริษัท​ก๊าซ

[ภาพ​หน้า 13]

เครื่อง​มือ​พิเศษ​ถูก​ใช้​สร้าง​คลื่น​เสียง​ที่​สะท้อน​กลับ​เข้า​สู่​อุปกรณ์​ที่​คอย​จับ​สัญญาณ​อยู่

[ภาพ​หน้า 13]

นัก​ธรณี​วิทยา​วิเคราะห์​แบบ​จำลอง​สาม​มิติ​ที่​สร้าง​จาก​คลื่น​เสียง

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 13]

Top: © Lloyd Sutton/Alamy; bottom: © Chris Pearsall/Alamy