ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ถนนโรมันอนุสรณ์แห่งวิศวกรรมยุคโบราณ

ถนนโรมันอนุสรณ์แห่งวิศวกรรมยุคโบราณ

ถนน​โรมัน​อนุสรณ์​แห่ง​วิศวกรรม​ยุค​โบราณ

อะไร​คือ​สิ่ง​ที่​ชาว​โรมัน​ทิ้ง​ไว้​เป็น​อนุสรณ์​ซึ่ง​มี​ความ​สำคัญ​มาก​ที่​สุด? คุณ​จะ​ตอบ​ว่า​เป็น​โคลอสเซียม ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ที่​เห็น​ได้​ใน​กรุง​โรม​ไหม? ถ้า​เรา​ต้องการ​คิด​ถึง​สิ่ง​ก่อ​สร้าง​สมัย​โรมัน​ที่​อยู่​มา​ยาว​นาน​ที่​สุด​หรือ​ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ประวัติศาสตร์ เรา​คง​ต้อง​คิด​ถึง​ถนน.

ไม่​เพียง​แค่​ขบวน​สินค้า​และ​กองทัพ​เท่า​นั้น​ที่​ใช้​ทาง​หลวง​โรมัน. โรโมโล เอ. สตาโชลี นัก​ค้นคว้า​เกี่ยว​กับ​คำ​จารึก​โบราณ กล่าว​ว่า​ถนน​สาย​ต่าง ๆ เป็น​เส้น​ทาง “เผยแพร่​แนว​คิด, อิทธิพล​ทาง​ศิลปะ, และ​หลัก​คำ​สอน​ทาง​ปรัชญา​กับ​ศาสนา” ซึ่ง​รวม​ถึง​ของ​ศาสนา​คริสต์​ด้วย.

ใน​สมัย​โบราณ ถนน​สาย​ต่าง ๆ ของ​โรม​ถือ​เป็น​ผล​งาน​ที่​ยิ่ง​ใหญ่. ตลอด​หลาย​ศตวรรษ ชาว​โรมัน​สร้าง​เครือ​ข่าย​ถนน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​แล้ว​มี​ความ​ยาว​มาก​กว่า 80,000 กิโลเมตร และ​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ที่​มี​ขนาด​เท่า​กับ​ประเทศ​ต่าง ๆ ใน​ปัจจุบัน​มาก​กว่า 30 ประเทศ.

เวีย พับลีกา—หรือ​ใน​ปัจจุบัน​อาจ​เรียก​ว่า​ทาง​หลวง—ที่​สำคัญ​สาย​แรก​คือ เวีย แอปเปีย หรือ​ทาง​หลวง​แอปเปียน เวย์. ถนน​สาย​นี้​ซึ่ง​ได้​ฉายา​ว่า​ราชินี​แห่ง​ถนน เชื่อม​ระหว่าง​กรุง​โรม​กับ​บรันดิเซียม (ปัจจุบัน​เรียก​บรินดิซี) เมือง​ท่า​ซึ่ง​เป็น​ประตู​สู่​ดินแดน​ทาง​ตะวัน​ออก. ถนน​สาย​นี้​ได้​รับ​การ​ตั้ง​ชื่อ​ตาม​แอปปิอุส เคลาดิอุส แคคุส ผู้​อำนวย​การ​ก่อ​สร้าง​ชาว​โรมัน ผู้​ซึ่ง​เริ่ม​สร้าง​ถนน​สาย​นี้​ประมาณ​ปี 312 ก่อน​สากล​ศักราช. นอก​จาก​นั้น โรม​ยัง​มี​ถนน​เวีย ซาลาเรีย​และ​เวีย ฟลามีเนีย ถนน​สอง​สาย​นี้​มุ่ง​หน้า​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​ถึง​ทะเล​เอเดรียติก เป็น​เส้น​ทาง​ที่​เปิด​ไป​สู่​คาบสมุทร​บอลข่าน​รวม​ถึง​บริเวณ​แม่น้ำ​ไรน์​และ​แม่น้ำ​ดานูบ. เวีย ออเรเลีย เป็น​ถนน​ที่​มุ่ง​ขึ้น​ทาง​เหนือ​ไป​ยัง​กอล​และ​คาบสมุทร​ไอบีเรีย และ​เวีย ออสเทนซิส เป็น​ถนน​ที่​มุ่ง​ไป​สู่​ออสเตีย ท่า​เรือ​ที่​ชาว​โรมัน​ชอบ​ใช้​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไป​และ​กลับ​จาก​แอฟริกา.

โครงการ​ก่อ​สร้าง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​โรม

ถนน​มี​ความ​สำคัญ​ต่อ​กรุง​โรม​แม้​แต่​ก่อน​ที่​ชาว​โรมัน​จะ​เริ่ม​สร้าง​ถนน​ใหม่. กรุง​โรม​เกิด​ขึ้น​ตรง​บริเวณ​ที่​เส้น​ทาง​เก่า​แก่​สาย​ต่าง ๆ มา​บรรจบ​กัน ณ บริเวณ​เดียว​ที่​สามารถ​เดิน​ลุย​น้ำ​ข้าม​แม่น้ำ​ไทเบอร์​ได้. ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​แหล่ง​อ้างอิง​โบราณ ชาว​โรมัน​นำ​วิธี​ของ​ชาว​คาร์เทจ​มา​ใช้​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​ถนน​ที่​มี​อยู่​ให้​ดี​ขึ้น. แต่​ผู้​เชี่ยวชาญ​จริง ๆ ใน​การ​สร้าง​ถนน​ก่อน​หน้า​ชาว​โรมัน​อาจ​เป็น​ชาว​อีทรัสคัน. ส่วน​ที่​ยัง​เหลือ​เป็น​ถนน​ของ​ชาว​อีทรัสคัน​ยัง​คง​มี​ให้​เห็น​ได้​ใน​ทุก​วัน​นี้. นอก​จาก​นั้น มี​เส้น​ทาง​ที่​มี​การ​ใช้​บ่อย ๆ หลาย​สาย​ใน​ดินแดน​นั้น​ก่อน​ยุค​โรมัน. ถนน​เหล่า​นี้​อาจ​เป็น​เส้น​ทาง​ที่​พา​ฝูง​สัตว์​ย้าย​จาก​ทุ่ง​หญ้า​แห่ง​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​แห่ง​หนึ่ง. แต่​การ​เดิน​ทาง​บน​ถนน​เหล่า​นั้น​เป็น​ไป​อย่าง​ยาก​ลำบาก​เพราะ​ใน​ฤดู​แล้ง​ถนน​เต็ม​ไป​ด้วย​ฝุ่น​และ​ใน​ฤดู​ฝน​ก็​มี​แต่​โคลน. บ่อย​ครั้ง ชาว​โรมัน​จะ​สร้าง​ถนน​ของ​ตน​ทับ​เส้น​ทาง​เหล่า​นั้น.

ถนน​โรมัน​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​อย่าง​ดี​และ​ถูก​สร้าง​ให้​มี​ความ​ทนทาน, ใช้​งาน​ได้​ดี, และ​สวย​งาม. ถนน​ต่าง ๆ ถูก​สร้าง​อย่าง​ดี​เยี่ยม เชื่อม​ต้น​ทาง​กับ​ปลาย​ทาง​โดย​ใช้​ระยะ​ทาง​ที่​สั้น​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ จึง​เป็น​เหตุ​ให้​ถนน​หลาย​สาย​ทอด​ยาว​เป็น​ทาง​ตรง. แต่​บ่อย​ครั้ง ถนน​จะ​ถูก​สร้าง​ตาม​ลักษณะ​ธรรมชาติ​ของ​พื้น​ที่. สำหรับ​พื้น​ที่​ที่​มี​ภูมิ​ประเทศ​เป็น​เนิน​เขา​หรือ​ภูเขา วิศวกร​โรมัน​จะ​สร้าง​ถนน​บริเวณ​กึ่งกลาง​ระหว่าง​ยอด​เขา​กับ​เชิง​เขา​ใน​ด้าน​ที่​รับ​แสง​แดด​เท่า​ที่​ทำ​ได้. การ​สร้าง​ถนน​ใน​ลักษณะ​นี้​ช่วย​ลด​ความ​ไม่​สะดวก​สบาย​สำหรับ​ผู้​ใช้​ถนน​หาก​มี​สภาพ​อากาศ​ที่​ไม่​เอื้ออำนวย.

แล้ว​ชาว​โรมัน​สร้าง​ถนน​อย่าง​ไร? พวก​เขา​ใช้​หลาย​วิธี แต่​วิธี​ที่​จะ​กล่าว​ถึง​นี้​เป็น​วิธี​พื้น​ฐาน​ที่​รู้​ได้​จาก​การ​ขุด​ค้น​ทาง​โบราณคดี.

ก่อน​อื่น​จะ​ต้อง​มี​การ​กำหนด​แนว​ของ​ถนน. งาน​นี้​เป็น​หน้า​ที่​ของ​ช่าง​สำรวจ​ใน​ยุค​นั้น. จาก​นั้น งาน​ขุด​ดิน​ซึ่ง​เป็น​งาน​ที่​หนัก​มาก​เป็น​หน้า​ที่​ของ​กอง​ทหาร, กรรมกร, หรือ​ทาส. มี​การ​ขุด​ร่อง​ขนาน​กัน​สอง​ร่อง. แนว​ร่อง​ทั้ง​สอง​ห่าง​กัน​อย่าง​น้อย​ที่​สุด​ประมาณ 2.4 เมตร แต่​ปกติ​แล้ว​จะ​ห่าง​กัน​ประมาณ 4 เมตร และ​อาจ​กว้าง​กว่า​นั้น​เมื่อ​เป็น​ทาง​โค้ง. ถนน​ที่​สร้าง​เสร็จ​แล้ว​อาจ​มี​ความ​กว้าง​ถึง 10 เมตร​เมื่อ​รวม​ทาง​เท้า​ทั้ง​สอง​ด้าน. แล้ว​ดิน​ที่​อยู่​ระหว่าง​แนว​ร่อง​จะ​ถูก​ขุด​ออก​ไป​กลาย​เป็น​ร่อง​ลึก​ขนาด​ใหญ่. เมื่อ​ขุด​จน​ถึง​พื้น​ที่​แข็ง​แล้ว จะ​มี​การ​ถม​ด้วย​วัสดุ​ต่าง​ชนิด​กัน​สาม​หรือ​สี่​ชั้น. ชั้น​แรก​อาจ​จะ​เป็น​หิน​ก้อน​ใหญ่​หรือ​เศษ​อิฐ. ชั้น​ต่อ​มา​เป็น​กรวด​หรือ​หิน​แบน ๆ ซึ่ง​บาง​ที​อาจ​มี​การ​ยึด​ติด​กัน​โดย​ใช้​คอนกรีต. แล้ว​ก็​ตาม​ด้วย​ชั้น​ก้อน​กรวด​หรือ​เศษ​หิน​อัด​แน่น​อยู่​ด้าน​บน.

พื้น​ผิว​ถนน​ของ​โรมัน​บาง​สาย​เป็น​แต่​หิน​ก้อน​เล็ก ๆ อัด​แน่น. แต่​ใน​สมัย​โบราณ ถนน​ที่​ปู​ด้วย​หิน​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​ผู้​คน​ใน​สมัย​นั้น. ผิว​หน้า​ของ​ถนน​เหล่า​นั้น​เป็น​แผ่น​หิน​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​มัก​จะ​หา​ได้​ใน​ละแวก​นั้น. ถนน​เหล่า​นั้น​จะ​นูน​ขึ้น​เป็น​หลัง​เต่า​เล็ก​น้อย ทำ​ให้​น้ำ​ฝน​ไหล​ลง​สู่​ร่อง​ด้าน​ข้าง​ได้​ง่าย. การ​สร้าง​ถนน​ใน​ลักษณะ​นี้​ช่วย​ให้​ถนน​มี​ความ​ทนทาน​และ​ถนน​บาง​สาย​จึง​อยู่​มา​จน​ถึง​สมัย​ของ​เรา.

ประมาณ 900 ปี​หลัง​จาก​การ​สร้าง​ทาง​หลวง​แอปเปียน เวย์ นัก​ประวัติศาสตร์​สมัย​ไบแซนไทน์​ชื่อ​โพรโคปิอุส​ได้​พรรณนา​ว่า​ถนน​นี้​คือ “สิ่ง​มหัศจรรย์.” เขา​เขียน​เกี่ยว​กับ​แผ่น​หิน​ที่​ปู​ผิว​ถนน​ว่า “แม้​กาล​เวลา​จะ​ผ่าน​ไป​เนิ่นนาน​และ​รถ​ม้า​แล่น​ผ่าน​วัน​แล้ว​วัน​เล่า สภาพ​ถนน​ก็​ไม่​ได้​เสียหาย​ทั้ง​ยัง​เรียบ​เหมือน​เดิม.”

ถนน​เหล่า​นี้​ข้าม​สิ่ง​กีด​ขวาง​ตาม​ธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ได้​อย่าง​ไร? วิธี​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​คือ​การ​ใช้​สะพาน ซึ่ง​บาง​แห่ง​ยัง​คง​มี​ให้​เห็น​ได้​ใน​ทุก​วัน​นี้ เป็น​หลักฐาน​ถึง​ความ​สามารถ​ใน​ด้าน​เทคนิค​ที่​น่า​ทึ่ง​ของ​ชาว​โรมัน​ใน​สมัย​โบราณ. อุโมงค์​ใน​ระบบ​ถนน​โรมัน​บาง​ที​อาจ​ไม่​ค่อย​เป็น​ที่​รู้​จัก​เท่า​ใด​นัก แต่​การ​ก่อ​สร้าง​อุโมงค์​เหล่า​นี้​ก็​ยิ่ง​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้​ทาง​เทคนิค​และ​เครื่อง​มือ​ที่​มี​อยู่​ใน​สมัย​นั้น. แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “วิศวกรรม​ของ​ชาว​โรมัน . . . ได้​สร้าง​สรรค์​ผล​งาน​ที่​ไม่​มี​ใคร​เทียบ​ได้​เป็น​เวลา​นาน​หลาย​ศตวรรษ.” ตัว​อย่าง​หนึ่ง​คือ​อุโมงค์​ที่​ช่อง​เขา​ฟูร์โล​ซึ่ง​เชื่อม​ต่อ​กับ​ถนน​เวีย ฟลามีเนีย. ย้อน​ไป​ใน​ปี​สากล​ศักราช 78 หลัง​จาก​ที่​วิศวกร​ได้​วาง​แผน​อย่าง​ดี​แล้ว ได้​มี​การ​เจาะ​หิน​แข็ง​เพื่อ​ทำ​เป็น​อุโมงค์​ที่​มี​ความ​ยาว 40 เมตร กว้าง 5 เมตร​และ​สูง 5 เมตร. นี่​นับ​เป็น​ความ​สำเร็จ​ที่​น่า​ประทับใจ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​คิด​ถึง​เครื่อง​มือ​ที่​มี​อยู่​ใน​สมัย​นั้น. การ​สร้าง​ระบบ​ถนน​เช่น​นี้​เป็น​หนึ่ง​ใน​งาน​ที่​ยาก​ที่​สุด​ของ​มนุษย์.

นัก​เดิน​ทาง​และ​การ​เผยแพร่​แนว​คิด

ทหาร​และ​พ่อค้า, ผู้​เผยแพร่​ศาสนา​และ​นัก​ท่อง​เที่ยว, นัก​แสดง​และ​นัก​ต่อ​สู้​บน​สังเวียน​ล้วน​เคย​ใช้​ถนน​เหล่า​นี้. ผู้​คน​ที่​เดิน​ด้วย​เท้า​สามารถ​เดิน​ทาง​ใน​วัน​หนึ่ง​เป็น​ระยะ​ทาง​ประมาณ 25 ถึง 30 กิโลเมตร. นัก​เดิน​ทาง​จะ​รู้​ระยะ​ทาง​ได้​จาก​หลัก​หิน​บอก​ระยะ​ทาง. หิน​ดัง​กล่าว​ซึ่ง​มี​หลาย​รูป​ทรง ปกติ​แล้ว​เป็น​ทรง​กระบอก จะ​ปัก​ไว้​ทุก ๆ 1,480 เมตร ซึ่ง​เท่า​กับ​ระยะ​ทาง​หนึ่ง​ไมล์​ของ​โรมัน. นอก​จาก​นั้น ยัง​มี​ที่​พัก ซึ่ง​เป็น​ที่​ที่​นัก​เดิน​ทาง​สามารถ​เปลี่ยน​ม้า, ซื้อ​หา​อาหาร, หรือ​บาง​ครั้ง​ก็​พัก​ค้าง​คืน​ได้. จุด​บริการ​เหล่า​นี้​บาง​แห่ง​พัฒนา​ขึ้น​จน​กลาย​เป็น​เมือง​เล็ก ๆ.

ไม่​นาน​ก่อน​ที่​ศาสนา​คริสเตียน​เริ่ม​ต้น ซีซาร์​เอากุสตุส​ได้​เริ่ม​โครงการ​บำรุง​รักษา​ถนน. เขา​แต่ง​ตั้ง​เจ้าหน้าที่​เพื่อ​ดู​แล​ถนน​หนึ่ง​สาย​หรือ​มาก​กว่า​นั้น. เขา​สั่ง​ให้​ตั้ง​สิ่ง​ที่​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​มีเลียรีอุม เอาเรอุม หรือ​หลัก​กิโลเมตร​ทองคำ ไว้​ที่​ลาน​ชุมนุม​ของ​โรมัน. แท่ง​ดัง​กล่าว​ซึ่ง​มี​ตัว​อักษร​เคลือบ​ทอง​สัมฤทธิ์ เป็น​จุด​สิ้น​สุด​ที่​สมบูรณ์​แบบ​ของ​ถนน​โรมัน​ทุก​สาย​ใน​อิตาลี. นี่​จึง​เป็น​ที่​มา​ของ​ภาษิต​ที่​ว่า “ถนน​ทุก​สาย​มุ่ง​สู่​โรม.” เอากุสตุส​ยัง​ให้​มี​การ​ตั้ง​แสดง​แผนที่​ระบบ​ถนน​ของ​จักรวรรดิ​ด้วย. ดู​เหมือน​ว่า​มี​เครือข่าย​ถนน​ที่​อยู่​ใน​สภาพ​ดี​เยี่ยม​สำหรับ​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​คน​ตาม​มาตรฐาน​ใน​สมัย​นั้น.

นัก​เดิน​ทาง​บาง​คน​ใน​สมัย​โบราณ​ถึง​กับ​ใช้​คู่มือ​แนะ​นำ​เส้น​ทาง​หรือ​คู่มือ​การ​เดิน​ทาง​ที่​เขียน​ขึ้น​เพื่อ​ช่วย​ให้​เดิน​ทาง​ง่าย​ขึ้น. คู่มือ​เหล่า​นี้​มี​ข้อมูล​ต่าง ๆ เช่น ระยะ​ทาง​ระหว่าง​จุด​แวะ​พัก​แห่ง​หนึ่ง​กับ​อีก​แห่ง​หนึ่ง และ​มี​คำ​อธิบาย​ว่า​มี​การ​บริการ​อะไร​บ้าง​ใน​จุด​แวะ​พัก​เหล่า​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คู่มือ​เช่น​นั้น​มี​ราคา​แพง และ​จึง​ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​จะ​มี.

กระนั้น​ก็​ตาม ผู้​เผยแพร่​คริสเตียน​วาง​แผน​และ​เดิน​ทาง​ไกล​หลาย​ครั้ง. เมื่อ​เดิน​ทาง​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก อัครสาวก​เปาโล ซึ่ง​ก็​เหมือน​กับ​ที่​ผู้​คน​ใน​ยุค​เดียว​กับ​ท่าน มัก​เลือก​ที่​จะ​ไป​ทาง​ทะเล​โดย​ฉวย​ประโยชน์​จาก​กระแส​ลม​ที่​มี​อยู่​เกือบ​ตลอด​เวลา. (กิจการ 14:25, 26; 20:3; 21:1-3) ใน​ช่วง​เดือน​ที่​เป็น​ฤดู​ร้อน​ของ​แถบ​เมดิเตอร์เรเนียน กระแส​ลม​จะ​พัด​มา​จาก​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก. แต่​เมื่อ​เปาโล​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก บ่อย​ครั้ง​ท่าน​จะ​ไป​ทาง​บก​โดย​อาศัย​เครือข่าย​ถนน​โรมัน. เปาโล​วาง​แผนการ​เดิน​ทาง​มิชชันนารี​รอบ​ที่​สอง​และ​สาม​โดย​ใช้​วิธี​เดิน​ทาง​เช่น​นี้. (กิจการ 15:36-41; 16:6-8; 17:1, 10; 18:22, 23; 19:1) * ประมาณ​ปี ส.ศ. 59 เปาโล​ใช้​ทาง​หลวง​แอปเปียน เวย์​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไป​กรุง​โรม​และ​พบ​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​ลาน​ชุมนุม​แอปปีอี หรือ​ตลาด​อัปปีโอ​ที่​จอแจ อยู่​ห่าง​จาก​กรุง​โรม​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้ 74 กิโลเมตร. ส่วน​พี่​น้อง​คน​อื่น ๆ รอ​พบ​ท่าน​อยู่​ที่​บ้าน​ไตร​ภัตตาคาร​ซึ่ง​อยู่​ใกล้​กรุง​โรม​เข้า​ไป​อีก 14 กิโลเมตร. (กิจการ 28:13-15) ประมาณ​ปี ส.ศ. 60 เปาโล​สามารถ​กล่าว​ได้​ว่า​ข่าว​ดี​ได้​ประกาศ “ไป​ทั่ว​โลก” ตาม​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​สมัย​นั้น. (โกโลซาย 1:6, 23) เครือข่าย​ถนน​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​ทำ​ให้​เรื่อง​นี้​เป็น​ไป​ได้.

ด้วย​เหตุ​นั้น ถนน​โรมัน​จึง​เป็น​อนุสรณ์​ที่​โดด​เด่น​และ​คงทน​ถาวร—และ​เป็น​สิ่ง​ที่​ส่ง​เสริม​การ​เผยแพร่​ข่าว​ดี​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.—มัดธาย 24:14.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 18 โปรด​ดู​แผนที่​ใน​จุลสาร “ไป​ดู​แผ่นดิน​อัน​ดี” หน้า 33 ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 14]

หลัก​หิน​บอก​ระยะ​ทาง​ของ​โรมัน

[ภาพ​หน้า 15]

เวีย แอปเปีย ชาน​กรุง​โรม

[ภาพ​หน้า 15]

ถนน​ใน​ออสเตีย​โบราณ อิตาลี

[ภาพ​หน้า 15]

ร่อง​บน​ถนน​ที่​เกิด​จาก​รถ​ม้า​สมัย​โบราณ ใน​ออสเตรีย

[ภาพ​หน้า 15]

ส่วน​หนึ่ง​ของ​ถนน​โรมัน​พร้อม​ด้วย​หลัก​หิน​บอก​ระยะ​ทาง ใน​จอร์แดน

[ภาพ​หน้า 16]

ซาก​อุโมงค์​ฝัง​ศพ​บน​ถนน​เวีย แอปเปีย นอก​กรุง​โรม

[ภาพ​หน้า 16]

อุโมงค์​ฟูร์โล บน​เส้น​ทาง​เวีย ฟลามีเนีย ใน​เขต​มาร์ช

[ภาพ​หน้า 17]

สะพาน​ทิเบริอุส​บน​ถนน​สาย​เวีย เอมิเลีย ที่​รีมินี อิตาลี

[ภาพ​หน้า 17]

เปาโล​พบ​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​ลาน​ชุมนุม​แอปปีอี หรือ​ตลาด​อัปปีโอ​ที่​จอแจ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

Far left, Ostia: ©danilo donadoni/Marka/age fotostock; far right, road with mileposts: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.