ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การจับปลาในทะเลแกลิลี

การจับปลาในทะเลแกลิลี

การ​จับ​ปลา​ใน​ทะเล​แกลิลี

ชีวิต​ชาว​ประมง​ใน​ทะเล​แกลิลี​ใน​ศตวรรษ​แรก​เป็น​เช่น​ไร? คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​นี้​จะ​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​เรื่อง​ราว​มาก​มาย​ที่​บันทึก​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ ดัง​เช่น​เรื่อง​ที่​ได้​พิจารณา​ไป​ใน​บทความ​ก่อน.

“ทะเล” นี้​แท้​จริง​แล้ว​เป็น​ทะเลสาบ​น้ำ​จืด​ซึ่ง​ยาว​ประมาณ 21 กิโลเมตร กว้าง​ประมาณ 12 กิโลเมตร. เป็น​เวลา​นาน​มา​แล้ว ชาว​ประมง​ได้​ใช้​ประโยชน์​จาก​ทะเลสาบ​แห่ง​นี้​ซึ่ง​มี​ปลา​อุดม​สมบูรณ์. ดู​เหมือน​ว่า​ประตู​ปลา​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​อดีต​เคย​เป็น​ตลาด​ซื้อ​ขาย​ปลา. (นะเฮมยา 3:3) ปลา​ที่​ขาย​ใน​ตลาด​นี้​ส่วน​หนึ่ง​ก็​มา​จาก​ทะเล​แกลิลี.

อัครสาวก​เปโตร​มา​จาก​เมือง​หนึ่ง​ริม​ฝั่ง​ทะเล​แกลิลี​ชื่อ​เบทซายะดา ซึ่ง​อาจ​มี​ความ​หมาย​ว่า “บ้าน​ของ​ชาว​ประมง.” อีก​เมือง​หนึ่ง​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ริม​ฝั่ง​ทะเลสาบ​เช่น​กัน​คือ​เมือง​มากาดาน หรือ​มักดาลา ซึ่ง​พระ​เยซู​ได้​พา​สาวก​ไป​ที่​นั่น​หลัง​จาก​พระองค์​ทรง​เดิน​บน​น้ำ. (มัดธาย 15:39) ตาม​ความ​เห็น​ของ​นัก​เขียน​คน​หนึ่ง ชื่อ​ภาษา​กรีก​ของ​เมือง​นี้​อาจ​แปล​ได้​ว่า “เมือง​แปรรูป​ปลา.” เมือง​นี้​มี​ชื่อเสียง​ใน​เรื่อง​โรง​งาน​ปลา​ซึ่ง​มี​อยู่​มาก​มาย และ​ปลา​ที่​จับ​ได้​ใน​บริเวณ​นี้​จะ​ถูก​นำ​ไป​ตาก​แห้ง​และ​หมัก​เกลือ หรือ​ไม่​ก็​ทำ​เป็น​น้ำ​ปลา​เก็บ​ไว้​ใน​ไห​ดิน​เหนียว​ทรง​สูง​ที่​มี​หู. ดู​เหมือน​ว่า​สินค้า​เหล่า​นี้​ถูก​ส่ง​ไป​ทั่ว​ทุก​ภาค​ของ​อิสราเอล​และ​อาจ​จะ​ไกล​กว่า​นั้น​ด้วย​ซ้ำ.

การ​จับ​ปลา, การ​แปรรูป, และ​การ​ค้า​ขาย​ปลา​จึง​เป็น​ธุรกิจ​ใหญ่​ใน​แคว้น​แกลิลี​สมัย​พระ​เยซู. เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​คิด​ว่า​ธุรกิจ​นี้​คง​ทำ​ให้​ผู้​คน​มาก​มาย​แถบ​นั้น​มี​ฐานะ​ร่ำรวย. แต่​ไม่​เป็น​เช่น​นั้น​เสมอ​ไป. ผู้​เชี่ยวชาญ​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า การ​จับ​ปลา “ไม่​ใช่​ธุรกิจ​ที่​ทำ​ได้​อย่าง​เสรี อย่าง​ที่​ผู้​อ่าน​พันธสัญญา​ใหม่​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​อาจ​คิด​กัน.” การ​จับ​ปลา​ใน​แกลิลี​เป็น “ธุรกิจ​ที่​ต้อง​ได้​รับ​สัมปทาน​จาก​รัฐ​และ​ทำ​กำไร​ให้​แก่​ชน​ชั้น​สูง.”

เฮโรด อันติปา เป็น​ผู้​ครอง​แคว้น​แกลิลี​ที่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​จาก​โรม. ด้วย​เหตุ​นั้น เขา​จึง​เป็น​ผู้​ควบคุม​ดู​แล​ถนน​หน​ทาง, ท่า​เรือ, และ​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​ต่าง ๆ เช่น เหมือง​แร่, ป่า​ไม้, การ​เกษตร, และ​การ​ประมง​ใน​แคว้น​นี้. ทรัพยากร​เหล่า​นี้​เป็น​แหล่ง​ราย​ได้​สำคัญ​ของ​เฮโรด​ซึ่ง​ได้​จาก​การ​เก็บ​ภาษี. เรา​ไม่​ทราบ​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​นโยบาย​การ​จัด​เก็บ​ภาษี​ใน​แกลิลี​สมัย​ศตวรรษ​แรก. แต่​ดู​เหมือน​ว่า​วิธี​จัด​เก็บ​ภาษี​โดย​ทั่ว​ไป​ของ​เฮโรด​ไม่​แตกต่าง​มาก​นัก​จาก​วิธี​ของ​ผู้​ปกครอง​ใน​ยุค​กรีก​หรือ​วิธี​ที่​พวก​โรมัน​ใช้​กับ​เมือง​ต่าง ๆ ทาง​ตะวัน​ออก​ซึ่ง​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​ตน. ผู้​ที่​ได้​รับ​ผล​กำไร​ส่วน​ใหญ่​จาก​การ​ดำเนิน​ธุรกิจ​ใน​บริเวณ​นี้​และ​ได้​ใช้​ประโยชน์​จาก​ทรัพยากร​ทาง​ธรรมชาติ​ใน​แกลิลี​คง​ต้อง​เป็น​พวก​ชน​ชั้น​สูง แทน​ที่​จะ​เป็น​สามัญ​ชน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ที่​ลง​แรง​เป็น​ส่วน​ใหญ่.

ภาษี​ที่​เป็น​ภาระ​หนัก

ใน​สมัย​พระ​เยซู ผืน​ดิน​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​แคว้น​แกลิลี​เป็น​สมบัติ​ของ​เชื้อ​วงศ์​กษัตริย์​และ​ถูก​แบ่ง​ออก​เป็น​ที่​ดิน​ผืน​ใหญ่ ๆ ซึ่ง​เฮโรด อันติปา ได้​แบ่ง​ให้​เป็น​ของ​กำนัล​แก่​ข้าราชการ​ชั้น​ผู้​ใหญ่​และ​ผู้​มี​บรรดาศักดิ์​คน​อื่น ๆ. พลเมือง​ของ​เฮโรด​ต้อง​แบก​รับ​ภาระ​ค่า​ใช้​จ่าย​จำนวน​มหาศาล​สำหรับ​ความ​เป็น​อยู่​ที่​หรูหรา​ของ​เฮโรด, โครงการ​ก่อ​สร้าง​ที่​ใหญ่​โต​มโหฬาร, การ​บริหาร​ราชการ​ที่​ซับซ้อน รวม​ทั้ง​ทรัพย์​สิน​เงิน​ทอง​ที่​เฮโรด​มอบ​ให้​มิตร​สหาย​และ​เมือง​ต่าง ๆ. กล่าว​กัน​ว่า​ภาษี​และ​ค่า​ธรรมเนียม​ที่​ประชาชน​ทั่ว​ไป​ต้อง​แบก​รับ​นั้น​เป็น​ภาระ​ที่​หนัก​เหลือ​เกิน.

นอก​จาก​นั้น เฮโรด​ยัง​เป็น​ผู้​ผูก​ขาด​ผล​ประโยชน์​จาก​แหล่ง​น้ำ​ใน​แคว้น​ด้วย. ฉะนั้น การ​จับ​ปลา​จึง​เป็น​โครงการ​ใหญ่​ที่​ควบคุม​ดู​แล​โดย​เฮโรด​หรือ​โดย​ผู้​ที่​เฮโรด​ได้​มอบ​ผืน​ดิน​ให้​เป็น​กรรมสิทธิ์. สำหรับ​ที่​ดิน​ที่​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ดู​แล​ของ​กษัตริย์​โดย​ตรง จะ​มี​นาย​หน้า​จัด​เก็บ​ภาษี​หรือ​หัวหน้า​คน​เก็บ​ภาษี ซึ่ง​ได้​แก่​พวก​คน​รวย​ที่​ชนะ​การ​ประมูล​สิทธิ์​ใน​การ​จัด​เก็บ​ภาษี เป็น​ผู้​ที่​มี​อำนาจ​ใน​การ​ทำ​สัญญา​การ​จับ​ปลา​กับ​ชาว​ประมง. นัก​วิจารณ์​บาง​คน​ให้​ความ​เห็น​ว่า​เนื่อง​จาก​ด่าน​เก็บ​ภาษี​ของ​มัดธาย​อยู่​ที่​คาเปอร์นาอุม ซึ่ง​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​จับ​ปลา​ที่​สำคัญ​ของ​ทะเล​แกลิลี เขา​คง​ทำ​งาน​ให้​กับ​หัวหน้า​คน​เก็บ​ภาษี​เหล่า​นั้น ใน​ฐานะ​เป็น “ผู้​เก็บ​เงิน​ภาษี​สำหรับ​สิทธิ​ใน​การ​จับ​ปลา” ประจำ​ท้องถิ่น. *

หลักฐาน​จาก​ศตวรรษ​ที่​หนึ่ง​และ​สอง​ก่อน​สากล​ศักราช​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ภาษี​ใน​ปาเลสไตน์​มัก​ชำระ​เป็น “สิ่ง​ของ” แทน​ที่​จะ​เป็น​เงิน​สด. ดัง​นั้น ชาว​ประมง​บาง​คน​จึง​แบ่ง​ปลา​ประมาณ 25 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​ทั้ง​หมด​ที่​จับ​ได้​เพื่อ​แลก​กับ​สิทธิ​ใน​การ​จับ​ปลา. เอกสาร​โบราณ​บ่ง​ชี้​ว่า​อย่าง​น้อย​ใน​บาง​เขต​ที่​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​โรมัน การ​จับ​ปลา​เป็น​กิจการ​ผูก​ขาด​ของ​รัฐ​ซึ่ง​ดู​แล​โดย​ผู้​ตรวจ​การ. ใน​แคว้น​ปิซิเดีย ตำรวจ​ประมง​จะ​คอย​ดู​ไม่​ให้​มี​ใคร​จับ​ปลา​โดย​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​และ​คอย​ดู​ให้​ชาว​ประมง​ขาย​ปลา​ที่​จับ​ได้​ให้​กับ​พ่อค้า​คน​กลาง​หรือ​ผู้​ค้า​ส่ง​ที่​ได้​รับ​อนุญาต​เท่า​นั้น ซึ่ง​พ่อค้า​เหล่า​นี้​ก็​ต้อง​ทำ​ธุรกิจ​ภาย​ใต้​การ​ควบคุม​ดู​แล​ของ​รัฐ​และ​จ่าย​ภาษี​ให้​กับ​รัฐ​เช่น​กัน.

นัก​วิเคราะห์​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า การ​ควบคุม​ดู​แล​และ​จัด​เก็บ​ภาษี​เหล่า​นี้ ที่​สุด​แล้ว​ก็​ทำ​ให้ “กษัตริย์​และ​ผู้​มี​กรรมสิทธิ์​ใน​ที่​ดิน​ได้​กำไร​มหาศาล ใน​ขณะ​ที่​ชาว​ประมง​ได้​กำไร​น้อย​มาก.” ผู้​ที่​ประกอบ​กิจการ​ประเภท​อื่น ๆ ก็​ได้​กำไร​ไม่​มาก​นัก​เช่น​กัน​เนื่อง​จาก​การ​เก็บ​ภาษี​ที่​ขูดรีด. ภาษี​ไม่​เคย​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​ผู้​ที่​ต้อง​เสีย​ภาษี. แต่​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​ที่​คน​ทั่ว​ไป​มี​ต่อ​คน​เก็บ​ภาษี​ซึ่ง​เรา​อ่าน​พบ​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ​นั้น​คง​ต้อง​เพิ่ม​ขึ้น​อีก​เนื่อง​จาก​ความ​ไม่​ซื่อ​สัตย์​และ​ความ​โลภ​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​ความ​มั่งคั่ง​ร่ำรวย​มา​จาก​การ​ขูดรีด​เอา​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​จะ​เอา​ได้​จาก​สามัญ​ชน.—ลูกา 3:13; 19:2, 8

ชาว​ประมง​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ

กิตติคุณ​ทั้ง​สี่​เล่ม​บอก​ให้​ทราบ​ว่า​ซีโมน​เปโตร​มี​เพื่อน​ที่​ร่วม​ทำ​ธุรกิจ​หา​ปลา​ด้วย​กัน. คน​ที่​มา​ช่วย​เปโตร​ลาก​อวน​ตอน​ที่​จับ​ปลา​ได้​มาก​เนื่อง​จาก​การ​อัศจรรย์​ก็​คือ “เพื่อน ๆ ใน​เรือ​อีก​ลำ​หนึ่ง.” (ลูกา 5:3-7) พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​อธิบาย​ว่า “ชาว​ประมง​อาจ​รวม​ตัว​กัน​เป็น ‘สหกรณ์’ . . . เพื่อ​จะ​ประมูล​สัญญา​การ​จับ​ปลา​หรือ​เช่า​ที่​จับ​ปลา.” คง​เป็น​เพราะ​เหตุ​นี้ บุตร​ชาย​สอง​คน​ของ​เซเบเดอุส, เปโตร, อันเดรอัส, และ​เพื่อน ๆ ของ​เขา​จึง​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ทำ​ธุรกิจ​ประมง​ได้.

คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​กล่าว​ชัดเจน​ว่า ชาว​ประมง​ใน​แกลิลี​เป็น​เจ้าของ​เรือ​และ​อุปกรณ์​จับ​ปลา​ที่​พวก​เขา​ใช้​หรือ​ไม่. บาง​คน​คิด​ว่า​น่า​จะ​เป็น​เช่น​นั้น. ที่​จริง มี​การ​กล่าว​ถึง​พระ​เยซู​ว่า​เคย​เสด็จ​ลง​เรือ “ซึ่ง​เป็น​ของ​ซีโมน.” (ลูกา 5:3) อย่าง​ไร​ก็​ตาม บทความ​หนึ่ง​ที่​อธิบาย​เรื่อง​นี้​โดย​ตรง​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “อย่าง​น้อย​ก็​มี​ความ​เป็น​ไป​ได้ ที่​เรือ​เหล่า​นั้น​แท้​จริง​แล้ว​เป็น​ของ​นาย​หน้า​ซึ่ง​ให้​สมาชิก​สหกรณ์​ใช้.” ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เช่น​นั้น​หรือ​ไม่ พระ​คัมภีร์​ก็​กล่าว​ถึง​ยาโกโบ​และ​โยฮัน​ว่า​กำลัง​ชุน​อวน​ของ​ตน. นอก​จาก​นี้​ชาว​ประมง​อาจ​ต้อง​เจรจา​ต่อ​รอง​เพื่อ​ขาย​ปลา​ที่​จับ​ได้ และ​อาจ​จำเป็น​ต้อง​จ้าง​แรงงาน​ราย​วัน.

ฉะนั้น กิจการ​ประมง​ใน​แกลิลี​ใน​ศตวรรษ​แรก​จึง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​หลาย​อย่าง​มาก​กว่า​ที่​คิด. ธุรกิจ​ของ​พวก​เขา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ระบบ​เศรษฐกิจ​ที่​ซับซ้อน​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​หลาย​อาชีพ. การ​จด​จำ​เรื่อง​นี้​ไว้​จะ​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​เรื่อง​ราว​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ​และ​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​เกี่ยว​กับ​การ​จับ​ปลา​และ​ชาว​ประมง​ได้​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น. ไม่​เพียง​เท่า​นั้น ข้อมูล​เหล่า​นี้​ยัง​ช่วย​ให้​เรา​ซาบซึ้ง​ใน​ความ​เชื่อ​ของ​เปโตร, อันเดรอัส, ยาโกโบ, และ​โยฮัน. การ​หา​ปลา​เป็น​อาชีพ​เลี้ยง​ตัว​ของ​พวก​เขา. ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​มี​ฐานะ​ทาง​การ​เงิน​อย่าง​ไร​ใน​ตอน​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เรียก พวก​เขา​ก็​พร้อม​จะ​ทิ้ง​งาน​อาชีพ​ที่​ทำ​อยู่ ซึ่ง​เป็น​งาน​ที่​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​ราย​ได้​มั่นคง เพื่อ​จะ​มา​เป็น “ผู้​จับ​คน.”—มัดธาย 4:19

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 ดู​เหมือน​ว่า​อัครสาวก​เปโตร​ได้​ย้าย​จาก​เมือง​เบทซายะดา​มา​อยู่​ที่​คาเปอร์นาอุม เพื่อ​ทำ​ธุรกิจ​ประมง​ร่วม​กับ​อันเดรอัส​น้อง​ชาย​และ​บุตร​ชาย​สอง​คน​ของ​เซเบเดอุส. พระ​เยซู​ก็​เคย​อาศัย​อยู่​ใน​เมือง​คาเปอร์นาอุม​ระยะ​หนึ่ง​ด้วย.—มัดธาย 4:13-16

[แผนที่​หน้า 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ทะเลสาบ​ฮูลา

เบทซายะดา

คาเปอร์นาอุม

มากาดาน

ทะเล​แกลิลี

เยรูซาเลม

ทะเล​ตาย

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Todd Bolen/Bible Places.com

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

Todd Bolen/Bible Places.com