ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โคเดกซ์วาติกัน—ทำไมจึงมีค่ามาก?

โคเดกซ์วาติกัน—ทำไมจึงมีค่ามาก?

โคเดกซ์​วาติกัน—ทำไม​จึง​มี​ค่า​มาก?

นคร​วาติกัน​นับ​เป็น​คลัง​ทรัพย์​ที่​ล้ำ​ค่า​อย่าง​แท้​จริง. ภาพ​ปูน​เปียก, ประติมากรรม, และ​สถาปัตยกรรม​ใน​นคร​นี้​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​วิจิตร​งดงาม​ยิ่ง​นัก. กระนั้น ใน​ช่วง​หลาย​ร้อย​ปี​มี​น้อย​คน​ที่​ได้​เห็น​สมบัติ​ล้ำ​ค่า​ที่​สุด​ชิ้น​หนึ่ง​ของ​นคร​นี้. สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​ค่า​มาก​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​ให้​ความ​กระจ่าง​แก่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​เขียน​ขึ้น​นาน​นับ​พัน ๆ ปี​มา​แล้ว​ได้​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​หอ​สมุด​ของ​นคร​วาติกัน. สำเนา​ฉบับ​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า โคเดกซ์​วาติกัน. *

สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ยุค​แรก​อีก​สอง​ฉบับ​ซึ่ง​ผู้​เชี่ยวชาญ​ถือ​กัน​ว่า​มี​ค่า​มาก​คือ​โคเดกซ์​อะเล็กซานไดรน์​และ​โคเดกซ์​ไซนายติก ต่าง​ก็​มี​ประวัติ​ที่​น่า​สนใจ​เกี่ยว​กับ​การ​ค้น​พบ​และ​การ​รอด​พ้น​จาก​การ​ถูก​ทำลาย. แต่​สำหรับ​ความ​เป็น​มา​ของ​โคเดกซ์​วาติกัน กลับ​ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​เท่า​ไร​นัก.

ทรัพย์​ที่​ถูก​ซ่อน​ไว้

โคเดกซ์​วาติกัน​มา​จาก​ไหน? มี​การ​กล่าว​ถึง​โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​ครั้ง​แรก​ใน​บัญชี​ราย​ชื่อ​หนังสือ​ของ​หอ​สมุด​วาติกัน​เมื่อ​ศตวรรษ​ที่ 15. ผู้​เชี่ยวชาญ​คิด​กัน​ว่า​โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​น่า​จะ​ทำ​ขึ้น​ใน​อียิปต์ หรือ​ไม่​ก็​ซีซาเรีย หรือ​แม้​แต่​โรม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​ได้​ประเมิน​ดู​ทฤษฎี​ของ​ผู้​เชี่ยวชาญ​เหล่า​นั้น​แล้ว ศาสตราจารย์ เจ. เนวิลล์ เบิร์ดซอลล์ แห่ง​มหาวิทยาลัย​เบอร์มิงแฮม ประเทศ​อังกฤษ ได้​ลง​ความ​เห็น​ว่า “กล่าว​โดย​สรุป​ก็​คือ เรา​ไม่​สามารถ​จะ​รู้​แน่ชัด​ว่า​โคเดกซ์​วาติกานุส​มา​จาก​ที่​ไหน​หรือ​ทำ​ขึ้น​เมื่อ​ไร และ​ทั้ง ๆ ที่​ผู้​เชี่ยวชาญ​ได้​พยายาม​กัน​มาก​แล้ว ก็​ไม่​สามารถ​สืบ​ประวัติ​ของ​โคเดกซ์​นี้​ย้อน​หลัง​ไป​ก่อน​ศตวรรษ​ที่​สิบ​ห้า​ได้.” ถึง​อย่าง​นั้น โคเดกซ์​วาติกัน​ก็​ได้​ชื่อ​ว่า​เป็น​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​รวม​อยู่​ใน​เล่ม​เดียว​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ฉบับ​หนึ่ง. ทำไม​จึง​กล่าว​เช่น​นั้น?

เป็น​เวลา​นาน​หลาย​ศตวรรษ ผู้​คัด​ลอก​บาง​คน​ได้​ทำ​ให้​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ผิด​เพี้ยน​ไป. ฉะนั้น สำหรับ​ผู้​แปล​ที่​ต้องการ​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​ต้น​ฉบับ​จึง​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​หา​สำเนา​ที่​เชื่อถือ​ได้​ซึ่ง​ถ่ายทอด​ข้อ​ความ​จาก​ต้น​ฉบับ​ดั้งเดิม​จริง ๆ. ดัง​นั้น คิด​ดู​สิ​ว่า บรรดา​ผู้​เชี่ยวชาญ​คง​กระตือรือร้น​มาก​เพียง​ไร​ที่​จะ​ตรวจ​สอบ​โคเดกซ์​วาติกัน เพราะ​โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​เป็น​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​กรีก​ที่​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สี่​สากล​ศักราช ไม่​ถึง 300 ปี​หลัง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​เสร็จ! โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​มี​ข้อ​ความ​จาก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​และ​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ครบ​ทุก​เล่ม มี​เพียง​บาง​ส่วน​ที่​ขาด​หาย​ไป​เนื่อง​จาก​กาล​เวลา.

เป็น​เวลา​นาน​ที่​คณะ​ปกครอง​ของ​วาติกัน​ไม่​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ให้​พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ใช้​ประโยชน์​จาก​โคเดกซ์​ฉบับ​นี้. เซอร์​เฟรเดอริก เคนยอน​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​ชื่อเสียง กล่าว​ว่า “ใน​ปี 1843 หลัง​จาก​รอ​มา​นาน​หลาย​เดือน [ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล คอนสแตนติน ฟอน] ทิเชินดอร์ฟ​ก็​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ดู​โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​หก​ชั่วโมง. . . . ใน​ปี 1845 เทรกาเลส ผู้​เชี่ยวชาญ​ชาว​อังกฤษ​ที่​โด่งดัง​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ดู​โคเดกซ์​นี้ แต่​ไม่​ให้​คัด​ลอก​แม้​แต่​คำ​เดียว.” ทิเชินดอร์ฟ​ได้​ขอ​อนุญาต​ดู​โคเดกซ์​วาติกัน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง แต่​ก็​ถูก​ยก​เลิก​หลัง​จาก​คัด​ลอก​ข้อ​ความ​จาก​โคเดกซ์​ไป​ได้ 20 หน้า. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เคนยอน​รายงาน​ว่า “ใน​การ​ขอ​ครั้ง​ใหม่ เขา​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ศึกษา​โคเดกซ์​ต่อ​รวม​เวลา​หก​วัน โดย​เขา​ได้​แบ่ง​ใช้​วัน​ละ​สาม​ชั่วโมง เป็น​เวลา​สิบ​สี่​วัน และ​เนื่อง​จาก​ได้​ใช้​เวลา​ที่​มี​อย่าง​เต็ม​ที่ ทิเชินดอร์ฟ​จึง​สามารถ​ตี​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ที่​สมบูรณ์​ที่​สุด​ใน​ขณะ​นั้น​ออก​มา​ใน​ปี 1867.” ต่อ​มา​ภาย​หลัง วาติกัน​ก็​ได้​ทำ​สำเนา​ที่​ดี​กว่า​ออก​มา.

‘รักษา​เอา​ไว้​อย่าง​ระมัดระวัง’

ข้อ​ความ​ที่​อยู่​ใน​โคเดกซ์​วาติกัน​เป็น​อย่าง​ไร? หนังสือ​ประวัติ​คัมภีร์​ไบเบิล​ประกอบ​ภาพ​ของ​ออกซฟอร์ด (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า โคเดกซ์​นี้ “มี​ทั้ง​การ​สะกด​ที่​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​และ​การ​คัด​ลอก​อย่าง​ถูก​ต้อง จึง​ทำ​ให้​ได้​ข้อ​ความ​ที่​มี​คุณภาพ​และ​ละเอียด​ถี่ถ้วน.” หนังสือ​เล่ม​นี้​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “ฉะนั้น อาจ​สรุป​ได้​ว่า​ข้อ​ความ​ใน​โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​เป็น​ผลิตผล​จาก​การ​คัด​ลอก​ต่อ​มา​หลาย​ทอด​โดย​ผู้​ที่​มี​ความ​ชำนาญ.”

ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​มี​ชื่อเสียง​สอง​คน​ซึ่ง​รู้สึก​ประทับใจ​ใน​คุณค่า​ของ​โคเดกซ์​วาติกัน​คือ บี. เอฟ. เวสต์คอตต์​และ เอฟ. เจ. เอ. ฮอร์ต. คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​พวก​เขา​ที่​ชื่อ​พันธสัญญา​ใหม่​ใน​ภาษา​กรีก​ดั้งเดิม ซึ่ง​พิมพ์​ออก​ใน​ปี 1881 โดย​อาศัย​ข้อ​ความ​จาก​สำเนา​ฉบับ​วาติกัน​และ​ไซนายติก​เป็น​พื้น​ฐาน ยัง​คง​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​สำคัญ​ที่​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​ต่าง ๆ ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ใช้​เป็น​หลัก รวม​ถึง​ดิ เอมฟาไซสด์ ไบเบิล ของ เจ. บี. รอเทอร์แฮม​และ​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม นัก​วิจารณ์​บาง​คน​คิด​ว่า​เวสต์คอตต์​และ​ฮอร์ต​คิด​ผิด​ที่​วางใจ​ข้อ​ความ​ใน​วาติกัน​โคเดกซ์. โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​ถ่ายทอด​ข้อ​ความ​ที่​ถูก​ต้อง​ตรง​ตาม​ต้น​ฉบับ​ดั้งเดิม​ไหม? สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เรียก​ว่า พาไพรัส​ของ​บอดเมอร์ ซึ่ง​พิมพ์​ออก​มา​ใน​ช่วง​ปี 1956 ถึง 1961 ทำ​ให้​พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​พา​กัน​ตื่นเต้น เนื่อง​จาก​สำเนา​ชุด​นี้​มี​ข้อ​ความ​บาง​ส่วน​ของ​หนังสือ​ลูกา​และ​โยฮัน​จาก​ต้น​ศตวรรษ​ที่​สาม​สากล​ศักราช​รวม​อยู่​ใน​นั้น​ด้วย. สำเนา​พาไพรัส​เหล่า​นี้​จะ​ยืน​ยัน​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ข้อ​ความ​ใน​โคเดกซ์​วาติกัน​ซึ่ง​มี​อายุ​น้อย​กว่า​ไหม?

ฟิลิป บี. เพย์น​และ​พอล คานาร์ต ได้​เขียน​ไว้​ใน​โนวัม เทสตาเมนตัม ว่า “มี​ความ​คล้ายคลึง​กัน​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ระหว่าง​ข้อ​ความ​ใน​วาติกานุส​กับ​ข้อ​ความ​ใน​พาไพรัส​ของ​บอดเมอร์​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่. เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​คล้ายคลึง​กัน​นี้ นับ​ว่า​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ผู้​ที่​ทำ​วาติกานุส​ขึ้น​เป็น​คน​แรก​ได้​คัด​ลอก​จาก​สำเนา​ที่​มี​ความ​ใกล้​เคียง​กัน​มาก​กับ​พาไพรัส​ของ​บอดเมอร์. ฉะนั้น ผู้​นั้น​คง​ต้อง​ได้​คัด​ลอก​จาก​สำเนา​ที่​เก่า​แก่​มาก หรือ​มิ​ฉะนั้น​ก็​คัด​ลอก​จาก​สำเนา​ซึ่ง​อาศัย​ต้น​ฉบับ​ที่​เก่า​แก่​มาก​เป็น​หลัก.” ศาสตราจารย์​เบิร์ดซอลล์ กล่าว​ว่า “สำเนา​สอง​ฉบับ​นี้​มี​ความ​เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​มาก. . . . [โคเดกซ์] เป็น​สำเนา​ที่​มี​การ​คัด​ลอก​อย่าง​ละเอียด​รอบคอบ เนื่อง​จาก​มี​หลักฐาน​ที่​เห็น​ได้​โดย​ตลอด​ว่า​ผู้​จัด​ทำ​โคเดกซ์​พยายาม​รักษา​ข้อ​ความ​จาก​ฉบับ​ที่​เขา​ใช้​เป็น​หลัก​เอา​ไว้​อย่าง​ระมัดระวัง.”

เป็น​ประโยชน์​แก่​ผู้​แปล

แน่​ละ สำเนา​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ก็​ใช่​ว่า​จะ​ถ่ายทอด​ข้อ​ความ​ได้​ใกล้​เคียง​กับ​ต้น​ฉบับ​มาก​ที่​สุด​เสมอ​ไป. แต่​การ​เปรียบ​เทียบ​โคเดกซ์​วาติกัน​นี้​กับ​สำเนา​ฉบับ​อื่น ๆ สามารถ​ช่วย​ผู้​เชี่ยวชาญ​ได้​มาก​ใน​การ​ตัดสิน​ว่า​ต้น​ฉบับ​ดั้งเดิม​กล่าว​อย่าง​ไร​จริง ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ส่วน​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​ของ​สำเนา​ไซนายติก​ซึ่ง​ทำ​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่​สี่​สากล​ศักราช​เช่น​เดียว​กับ​โคเดกซ์​วาติกัน หนังสือ​ส่วน​ใหญ่​ที่​เกี่ยว​กับ​ประวัติศาสตร์​ตั้ง​แต่​เยเนซิศ​จน​ถึง​โครนิกา​ฉบับ​ต้น​ได้​ขาด​หาย​ไป. แต่​การ​มี​หนังสือ​เหล่า​นั้น​อยู่​ใน​โคเดกซ์​วาติกัน​ได้​ช่วย​ยืน​ยัน​ว่า​หนังสือ​นี้​ควร​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​สารบบ​คัมภีร์​ไบเบิล.

หนังสือ​ประวัติ​คัมภีร์​ไบเบิล​ประกอบ​ภาพ​ของ​ออกซฟอร์ด กล่าว​ว่า “ข้อ​ความ​ต่าง ๆ ที่​กล่าว​ถึง​สถานภาพ​ของ​พระ​คริสต์​และ​พระ​ตรีเอกานุภาพ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์” เคย​เป็น​เรื่อง​ที่​ถกเถียง​กัน​มาก​ใน​หมู่​ผู้​เชี่ยวชาญ. โคเดกซ์​วาติกัน​ได้​ช่วย​ไข​ความ​กระจ่าง​แก่​ข้อ​ความ​เหล่า​นั้น​อย่าง​ไร?

ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. ตาม​บันทึก​ที่​โยฮัน 3:13 พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ไม่​มี​ใคร​ได้​ขึ้น​สวรรค์ เว้น​แต่​ผู้​ที่​ลง​มา​จาก​สวรรค์ คือ​บุตร​มนุษย์.” ผู้​แปล​บาง​คน​ได้​เพิ่ม​วลี “ซึ่ง [หรือ ผู้] อยู่​ใน​สวรรค์” เข้า​ไป. การ​เพิ่ม​คำ​เหล่า​นี้​เข้า​ไป​ชวน​ให้​เข้าใจ​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​อยู่​ใน​สวรรค์​และ​บน​แผ่นดิน​โลก​ใน​เวลา​เดียว​กัน ซึ่ง​เป็น​แนว​คิด​ที่​สนับสนุน​ความ​เชื่อ​เรื่อง​ตรีเอกานุภาพ. วลี​ที่​เพิ่ม​เข้า​ไป​นี้​ปรากฏ​ใน​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​กี่​ฉบับ​ซึ่ง​มี​อายุ​อยู่​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่​ห้า​และ​สิบ​สากล​ศักราช. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​ไม่​มี​วลี​นี้​ปรากฏ​ใน​สำเนา​ฉบับ​วาติกัน​และ​ไซนายติก​ซึ่ง​เก่า​แก่​กว่า ผู้​แปล​สมัย​ปัจจุบัน​หลาย​คน​จึง​ได้​ตัด​วลี​นี้​ออก​จาก​ฉบับ​แปล​ของ​ตน. การ​ทำ​เช่น​นี้​ช่วย​ขจัด​ความ​สับสน​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​ใคร​จริง ๆ และ​สอดคล้อง​ลง​รอย​กับ​ส่วน​ที่​เหลือ​ของ​พระ​คัมภีร์​ด้วย. แทน​ที่​จะ​อยู่​สอง​แห่ง​ใน​เวลา​เดียว​กัน พระ​เยซู​ได้​เสด็จ​มา​จาก​สวรรค์​และ​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​ก็​ได้​เสด็จ​กลับ สู่​สวรรค์ “ขึ้น​ไป​หา” พระ​บิดา​ของ​พระองค์.—โยฮัน 20:17

นอก​จาก​นั้น โคเดกซ์​วาติกัน​ยัง​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ข้อ​คัมภีร์​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​สำหรับ​แผ่นดิน​โลก​ด้วย. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. ดัง​ที่​กล่าว​ใน​ฉบับ​แปล​คิงเจมส์ อัครสาวก​เปโตร​พยากรณ์​ไว้​ว่า “แผ่นดิน​โลก​กับ​การ​งาน​ทั้ง​ปวง​ที่​มี​อยู่​ใน​นั้น​จะ​ต้อง​ไหม้​เสีย​สิ้น​ด้วย.” (2 เปโตร 3:10) ฉบับ​แปล​อื่น ๆ ก็​กล่าว​คล้าย ๆ กัน ซึ่ง​เป็น​สำนวน​ที่​มา​จาก​โคเดกซ์​อะเล็กซานไดรน์​ที่​มี​อายุ​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่​ห้า​สากล​ศักราช​และ​สำเนา​อื่น ๆ หลัง​จาก​นั้น. การ​แปล​เช่น​นั้น​ได้​ทำ​ให้​ผู้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​จริง​ใจ​จำนวน​มาก​สรุป​ว่า​พระเจ้า​จะ​ทำลาย​โลก​นี้.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ประมาณ​หนึ่ง​ร้อย​ปี​ก่อน​จะ​มี​การ​ทำ​โคเดกซ์​อะเล็กซานไดรน์​ขึ้น โคเดกซ์​วาติกัน (และ​สำเนา​ฉบับ​ไซนายติก​ที่​ทำ​ขึ้น​ใน​สมัย​เดียว​กัน) ได้​ถ่ายทอด​คำ​พยากรณ์​ของ​เปโตร​ไว้​ดัง​นี้: “แผ่นดิน​โลก​และ​การ​งาน​ต่าง ๆ ใน​นั้น​จะ​ถูก​เปิด​เผย.” ข้อ​ความ​นี้​สอดคล้อง​กับ​ส่วน​อื่น ๆ ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม? แน่​ที​เดียว! แผ่นดิน​โลก​ตาม​ตัว​อักษร​ถูก​สร้าง​ไว้ “เพื่อ​จะ​ให้​มั่นคง​เป็น​นิตย์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 104:5) ถ้า​เช่น​นั้น แผ่นดิน​โลก​จะ “ถูก​เปิด​เผย” อย่าง​ไร? ข้อ​คัมภีร์​อื่น ๆ แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คำ​ว่า “แผ่นดิน​โลก” อาจ​มี​ความ​หมาย​เป็น​นัย​ด้วย. “แผ่นดิน​โลก” สามารถ​พูด​ภาษา​ต่าง ๆ และ​ร้อง​เพลง​ได้. (เยเนซิศ 11:1; บทเพลง​สรรเสริญ 96:1, ฉบับ​แปล​คิงเจมส์) ดัง​นั้น คำ​ว่า “แผ่นดิน​โลก” อาจ​หมาย​ถึง​มนุษย์ หรือ​สังคม​มนุษย์. เรา​คง​รู้สึก​โล่ง​ใจ​มิ​ใช่​หรือ​ที่​ได้​รู้​ว่า​พระเจ้า​จะ​ไม่​ทำลาย​ดาว​เคราะห์​ของ​เรา แต่​จะ​เปิดโปง​และ​ทำลาย​สิ่ง​ชั่ว​ร้าย​ทั้ง​สิ้น​รวม​ทั้ง​ผู้​คน​ที่​ส่ง​เสริม​สิ่ง​เหล่า​นั้น?

“พระ​ดำรัส​ของ​พระเจ้า​ของ​เรา​จะ​ยั่งยืน​อยู่​เป็น​นิจ”

น่า​เสียดาย​ที่​โคเดกซ์​วาติกัน​ถูก​เก็บ​ไว้​อย่าง​เข้มงวด​เป็น​เวลา​หลาย​ร้อย​ปี และ​บ่อย​ครั้ง​ผู้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ถูก​ชักจูง​ให้​เข้าใจ​ผิด​ใน​เรื่อง​ความ​หมาย​ที่​แท้​จริง​ของ​ข้อ​ความ​บาง​ข้อ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นับ​ตั้ง​แต่​มี​การ​พิมพ์​โคเดกซ์​วาติกัน​และ​ฉบับ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​สมัย​ปัจจุบัน​ที่​น่า​เชื่อถือ​ออก​มา ผู้​แสวง​หา​ความ​จริง​ก็​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​ให้​เรียน​รู้​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​อะไร​จริง ๆ.

ผู้​คัด​ลอก​ใน​ยุค​แรก ๆ มัก​เขียน​ข้อ​ความ​หนึ่ง​ไว้​ใน​สำเนา​ที่​พวก​เขา​คัด​ลอก​ว่า “มือ​ที่​เขียน [สำเนา​นี้] เน่า​เปื่อย​ไป​แล้ว​ใน​หลุม​ศพ แต่​สิ่ง​ที่​เขียน​นั้น​คง​อยู่​ปี​แล้ว​ปี​เล่า.” ทุก​วัน​นี้​เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​ความ​พยายาม​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ของ​ผู้​คัด​ลอก​ที่​ไม่​ประสงค์​ออก​นาม​เหล่า​นั้น. แต่​ที่​สุด​แล้ว คุณ​ความ​ดี​ใน​การ​เก็บ​รักษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ของ​พระ​ผู้​ประพันธ์ ผู้​ทรง​โปรด​ให้​ผู้​พยากรณ์​ของ​พระองค์​เขียน​ไว้​นาน​มา​แล้ว​ว่า “หญ้า​นั้น​ก็​เหี่ยว​แห้ง, และ​ดอกไม้​ก็​ร่วงโรย​ไป, แต่​พระ​ดำรัส​ของ​พระเจ้า​ของ​เรา​จะ​ยั่งยืน​อยู่​เป็น​นิจ.”—ยะซายา 40:8

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 โคเดกซ์​วาติกัน มี​ชื่อ​เรียก​อีก​ว่า สำเนา​วาติกัน​หมาย​เลข 1209 หรือ โคเดกซ์​วาติกานุส และ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ส่วน​ใหญ่​ใช้​อักษร “B” เมื่อ​อ้าง​ถึง​สำเนา​ฉบับ​นี้. โคเดกซ์​คือ​ต้น​แบบ​ของ​หนังสือ​สมัย​ปัจจุบัน. ดู​บทความ​เรื่อง “จาก​ม้วน​หนังสือ​จน​ถึง​โคเดกซ์—วิธี​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​มา​อยู่​ใน​รูป​เล่ม” ใน​วารสาร​นี้​ฉบับ 1 มิถุนายน 2007.

[กรอบ​หน้า 20]

การ​หา​อายุ​ของ​สำเนา​โบราณ

แม้​ว่า​มี​ผู้​คัด​ลอก​บาง​คน​ลง​วัน​ที่​ที่​เขา​ทำ​งาน​เสร็จ​ไว้​ด้วย แต่​ไม่​พบ​ว่า​มี​การ​ทำ​เช่น​นั้น​ใน​สำเนา​ภาษา​กรีก​ส่วน​ใหญ่. ถ้า​อย่าง​นั้น พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​มี​วิธี​ใด​ที่​จะ​ทราบ​เวลา​ที่​มี​การ​ทำ​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ใด​ฉบับ​หนึ่ง​ขึ้น? ภาษา​และ​รูป​แบบ​ตัว​หนังสือ​แต่​ละ​ยุค​สมัย​ย่อม​แตกต่าง​กัน ลายมือ​ใน​การ​เขียน​ก็​เช่น​กัน. ตัว​อย่าง​เช่น ตัว​อักษร​อันเชียล ซึ่ง​มี​ลักษณะ​เด่น​คือ​ตัว​พิมพ์​ใหญ่​ที่​โค้ง​มน​และ​มี​เส้น​บรรทัด​ที่​ตรง นิยม​ใช้​กัน​ใน​ศตวรรษ​ที่​สี่​และ​หลัง​จาก​นั้น​อีก​หลาย​ร้อย​ปี. ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​ละเอียด​รอบคอบ​ซึ่ง​เทียบ​สำเนา​ที่​เขียน​ด้วย​อักษร​อันเชียล​ซึ่ง​ไม่​ระบุ​วัน​ที่​กับ​เอกสาร​ที่​คล้ายคลึง​กัน​ซึ่ง​ระบุ​วัน​ที่​ไว้​สามารถ​จะ​บอก​ได้​แม่นยำ​กว่า​ว่า​สำเนา​เก่า​แก่​ทั้ง​หลาย​นั้น​ทำ​ขึ้น​เมื่อ​ไร.

แน่นอน​ว่า​วิธี​นี้​ก็​มี​ข้อ​จำกัด. ศาสตราจารย์​บรูซ เมตซ์เกอร์ แห่ง​วิทยาลัย​เทววิทยา​พรินซ์ตัน กล่าว​ว่า “เนื่อง​จาก​ลักษณะ​ตัว​หนังสือ​ของ​แต่​ละ​คน​อาจ​เปลี่ยน​แปลง​ไป​ได้​ไม่​มาก​ก็​น้อย​ตลอด​ช่วง​ชีวิต จึง​ไม่​สม​เหตุ​สม​ผล​ที่​จะ​พยายาม​ระบุ​อายุ​ของ​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​แคบ​กว่า​ช่วง​ห้า​สิบ​ปี.” โดย​อาศัย​วิธี​การ​วิเคราะห์​ที่​ละเอียด​รอบคอบ​เช่น​นั้น ผู้​เชี่ยวชาญ​โดย​รวม​จึง​ลง​ความ​เห็น​สอดคล้อง​กัน​ว่า​มี​การ​ทำ​โคเดกซ์​วาติกัน​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่​สี่​สากล​ศักราช.