กิจการของอัครสาวก 27:1-44

27  เมื่อ​มี​การ​ตัดสิน​แล้ว​ว่า​จะ​ให้​พวก​เรา​ลง​เรือ​ไป​ประเทศ​อิตาลี+ เปาโล​กับ​นัก​โทษ​บาง​คน​จึง​ถูก​ส่ง​ตัว​ให้​นาย​ร้อย​ชื่อ​ยูเลียส​ซึ่ง​เป็น​ทหาร​ใน​กองทัพ​ออกัสตัส  พวก​เรา​ลง​เรือ​ที่​มา​จาก​เมือง​อัดรามิททิยุม​ซึ่ง​จะ​แล่น​ไป​ตาม​ท่า​เรือ​ต่าง ๆ แถบ​ชายฝั่ง​ของ​แคว้น​เอเชีย อาริสทาร์คัส+ชาว​มาซิโดเนีย​ซึ่ง​มา​จาก​เมือง​เธสะโลนิกา​ก็​ไป​กับ​พวก​เรา​ด้วย  วัน​รุ่ง​ขึ้น​พวก​เรา​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​เมือง​ไซดอน ยูเลียส​กรุณา​เปาโล​มาก เขา​อนุญาต​ให้​เปาโล​ไป​หา​เพื่อน ๆ เพื่อ​จะ​ได้​รับ​การ​ดู​แล​จาก​พวก​เขา  เมื่อ​ออก​เรือ​จาก​ที่​นั่น​แล้ว กระแส​ลม​ต้าน​เรา​มาก เรา​จึง​แล่น​เรือ​ไป​ใกล้ ๆ เกาะ​ไซปรัส​โดย​ใช้​เกาะ​เป็น​ที่​กำบัง​ลม  จาก​นั้น​ก็​แล่น​เรือ​ใน​น่าน​น้ำ​ของ​แคว้น​ซิลีเซีย​กับ​แคว้น​ปัมฟีเลีย แล้ว​เข้า​เทียบ​ท่า​ที่​เมือง​มิรา​ใน​แคว้น​ลีเซีย  ที่​นั่น​นาย​ร้อย​พบ​เรือ​ที่​มา​จาก​เมือง​อเล็กซานเดรีย​กำลัง​จะ​แล่น​ไป​ประเทศ​อิตาลี เขา​จึง​ให้​พวก​เรา​ลง​เรือ​ลำ​นั้น  เป็น​เวลา​หลาย​วัน​ที่​เรือ​ของ​พวก​เรา​แล่น​ไป​ได้​ช้า​มาก แต่​ใน​ที่​สุด​ก็​มา​ถึง​เมือง​คนีดัส​อย่าง​ทุลักทุเล พอ​เรา​ออก​จาก​ที่​นั่น​มา​ก็​เจอ​กระแส​ลม​แรง จึง​ต้อง​เปลี่ยน​เส้น​ทาง​โดย​แล่น​ผ่าน​แหลม​สัลโมเน แล้ว​ให้​เกาะ​ครีต​เป็น​ที่​กำบัง​ลม  เรือ​แล่น​เลียบ​ฝั่ง​อย่าง​ยาก​ลำบาก​จน​มา​ถึง​ที่​แห่ง​หนึ่ง​ชื่อ​ท่า​งาม​ซึ่ง​อยู่​ใกล้​เมือง​ลาเซีย  พวก​เรา​เสีย​เวลา​ไป​มาก​จน​ตอน​นี้​ไม่​ปลอด​ภัย​แล้ว​ที่​จะ​แล่น​เรือ เพราะ​เลย​ช่วง​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ใน​วัน​ไถ่​บาป+ไป​แล้ว เปาโล​จึง​แนะ​นำ​พวก​เขา​ว่า 10  “พวก​คุณ ผม​ว่า​ถ้า​เดิน​เรือ​ตอน​นี้ จะ​ต้อง​เกิด​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก​แน่ ๆ ไม่​ใช่​แค่​สินค้า​กับ​เรือ​เท่า​นั้น แต่​จะ​เป็น​อันตราย​ถึง​ชีวิต​พวก​เรา​ด้วย” 11  แต่​นาย​ร้อย​เชื่อ​กัปตัน​เรือ​กับ​เจ้า​ของ​เรือ​มาก​กว่า​คำ​พูด​ของ​เปาโล 12  ท่า​งาม​ไม่​เหมาะ​จะ​จอด​เรือ​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว คน​ส่วน​ใหญ่​จึง​แนะ​ให้​ออก​เรือ​ไป​จาก​ที่​นั่น และ​คิด​ว่า​น่า​จะ​ไป​จอด​ที่​เมือง​ฟีนิกซ์​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​ดี​กว่า เพราะ​เป็น​เมือง​ท่า​ของ​เกาะ​ครีต​ที่​มี​ท่า​เรือ​หัน​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​และ​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้ 13  เมื่อ​มี​ลม​จาก​ทิศ​ใต้​พัด​มา​เบา ๆ พวก​เขา​ก็​คิด​ว่า​จะ​ไป​เมือง​ฟีนิกซ์​ได้​อย่าง​ที่​ตั้งใจ​ไว้ พวก​เขา​จึง​ถอน​สมอ​แล้ว​แล่น​ไป​ตาม​ชายฝั่ง​ของ​เกาะ​ครีต 14  แต่​แล่น​ไป​ได้​ไม่​นาน​ก็​เจอ​พายุ​ใหญ่​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ยูราคีโลน 15  เมื่อ​เรือ​โดน​พายุ​กระหน่ำ​และ​แล่น​ฝ่า​ลม​ต่อ​ไป​ไม่​ไหว พวก​เรา​จึง​ปล่อย​ให้​เรือ​ลอย​ไป​ตาม​ลม 16  แล้ว​พวก​เรา​ก็​แล่น​เรือ​ไป​ใกล้ ๆ เกาะ​เล็ก ๆ ชื่อ​คาวดา​เพื่อ​ให้​เกาะ​นั้น​บัง​ลม​ให้​เรา แต่​ถึง​อย่าง​นั้น​ก็​ยัง​แทบ​จะ​รักษา​เรือ​เล็ก​ที่​จูง​มา​ไว้​ไม่​ได้ 17  พวก​เขา​ยก​เรือ​เล็ก​ขึ้น​มา แล้ว​เอา​เชือก​ลอด​ใต้​ท้อง​เรือ​ใหญ่​มัด​รอบ​ลำ​เรือ​ไว้ และ​พวก​เขา​ก็​ผ่อน​เชือก​เพื่อ​ลด​ใบ​เรือ​ลง​และ​ปล่อย​ให้​เรือ​ถูก​พัด​ไป​ตาม​ลม เพราะ​กลัว​ว่า​เรือ​จะ​เกยตื้น​ที่​อ่าว​เสอร์ทิส 18  เรือ​ถูก​พายุ​ใหญ่​พัด​กระหน่ำ​อย่าง​รุนแรง ใน​วัน​รุ่ง​ขึ้น​พวก​เขา​จึง​เอา​ของ​โยน​ทิ้ง​ทะเล​เพื่อ​ให้​เรือ​เบา​ลง+ 19  พอ​วัน​ที่​สาม พวก​เขา​ก็​เอา​อุปกรณ์​เดิน​เรือ​ทิ้ง​ไป 20  พวก​เรา​ยัง​โดน​พายุ​ใหญ่​กระหน่ำ​ไม่​หยุด และ​ไม่​เห็น​ดวง​อาทิตย์​กับ​ดวง​ดาว​อยู่​หลาย​วัน พวก​เรา​จึง​เริ่ม​คิด​ว่า​คง​ไม่​รอด​แน่ 21  หลัง​จาก​ทุก​คน​ไม่​ได้​กิน​อาหาร​มา​หลาย​วัน​แล้ว เปาโล​จึง​ยืน​ขึ้น​กลาง​หมู่​พวก​เขา​และ​พูด​ว่า “พวก​คุณ​น่า​จะ​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​ของ​ผม​ที่​บอก​ว่า​อย่า​ออก​เรือ​จาก​เกาะ​ครีต จะ​ได้​ไม่​ต้อง​มา​เจอ​ความ​เสียหาย​อย่าง​นี้+ 22  ตอน​นี้​ผม​ขอ​แนะ​พวก​คุณ​ว่า​ไม่​ต้อง​กลัว พวก​คุณ​จะ​ไม่​ตาย​เลย​สัก​คน​แต่​จะ​เสีย​เรือ​ไป 23  เพราะ​เมื่อ​คืน​นี้​ทูตสวรรค์+ของ​พระเจ้า​ที่​ผม​รับใช้​และ​นมัสการ​ได้​มา​ยืน​ใกล้ ๆ ผม 24  แล้ว​พูด​ว่า ‘เปาโล ไม่​ต้อง​กลัว​นะ คุณ​จะ​ต้อง​ไป​ยืน​ต่อ​หน้า​ซีซาร์+ พระเจ้า​จะ​ให้​ทุก​คน​ที่​มา​กับ​คุณ​ใน​เรือ​รอด​ชีวิต​ด้วย’ 25  ดัง​นั้น พวก​คุณ​ก็​ไม่​ต้อง​กลัว​นะ ผม​เชื่อ​ว่า​ทุก​อย่าง​จะ​เป็น​ไป​ตาม​ที่​พระเจ้า​บอก​ผม​แน่นอน 26  แต่​พวก​เรา​จะ​ต้อง​ถูก​ซัด​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​เกาะ​หนึ่ง”+ 27  คืน​ที่​สิบ​สี่ พวก​เรา​ถูก​คลื่น​ซัด​ไป​ซัด​มา​อยู่​ใน​ทะเล​เอเดรียติก พอ​ถึง​เที่ยง​คืน พวก​กะลาสี​ก็​รู้สึก​ได้​ว่า​มี​แผ่นดิน​อยู่​ใกล้ ๆ 28  พวก​เขา​หยั่ง​ความ​ลึก​ดู ก็​วัด​ได้​ประมาณ 36 เมตร พอ​ไป​อีก​หน่อย​หนึ่ง​ก็​หยั่ง​ได้​ประมาณ 27 เมตร 29  พวก​เขา​กลัว​ว่า​เรือ​จะ​เกย​โขด​หิน​จึง​ทอด​สมอ 4 ตัว​ตรง​ท้าย​เรือ​แล้ว​ภาวนา​ให้​ถึง​เช้า​เร็ว ๆ 30  แต่​พวก​กะลาสี​พยายาม​หา​ทาง​หนี​จาก​เรือ พวก​เขา​ก็​เลย​หย่อน​เรือ​เล็ก​ลง​ทะเล โดย​แกล้ง​ทำ​เป็น​ว่า​จะ​ทอด​สมอ​ตรง​หัว​เรือ 31  เปาโล​รู้​ทัน​จึง​พูด​กับ​นาย​ร้อย​และ​พวก​ทหาร​ว่า “ถ้า​พวก​นั้น​ไม่​อยู่​ใน​เรือ พวก​คุณ​ก็​จะ​ไม่​รอด​นะ”+ 32  พวก​ทหาร​จึง​ตัด​เชือก​ที่​ผูก​เรือ​เล็ก และ​ปล่อย​ให้​มัน​ลอย​ไป 33  พอ​ใกล้​จะ​เช้า เปาโล​แนะ​ทุก​คน​ให้​กิน​อาหาร​โดย​พูด​ว่า “สิบ​สี่​วัน​แล้ว​ที่​พวก​คุณ​เฝ้า​รอ​อย่าง​กระวนกระวาย​และ​ไม่​กิน​อะไร​เลย 34  กิน​อะไร​กัน​บ้าง​เถอะ จะ​ได้​มี​แรง พวก​คุณ​จะ​ไม่​มี​ใคร​เป็น​อันตราย แม้​แต่​ผม​สัก​เส้น​เดียว​ก็​จะ​ไม่​เสีย​ไป” 35  พอ​เปาโล​พูด​จบ​แล้ว ก็​หยิบ​ขนมปัง​มา​อธิษฐาน​ขอบคุณ​พระเจ้า​ต่อ​หน้า​พวก​เขา​ทุก​คน แล้ว​หัก​ขนมปัง​กิน 36  ทุก​คน​จึง​มี​กำลังใจ​และ​เอา​อาหาร​มา​กิน​กัน 37  พวก​เรา​ที่​อยู่​ใน​เรือ​มี​ทั้ง​หมด 276 คน 38  พอ​พวก​เขา​กิน​อิ่ม​แล้ว​ก็​เอา​ข้าว​สาลี​ทิ้ง​ทะเล​เพื่อ​ให้​เรือ​เบา​ขึ้น+ 39  พอ​สว่าง พวก​เขา​ก็​เห็น​แผ่นดิน​แต่​ไม่​รู้​ว่า​เป็น​ที่​ไหน+ พวก​เขา​มอง​ไป​เห็น​อ่าว​แห่ง​หนึ่ง​ที่​มี​หาด จึง​พยายาม​จะ​เอา​เรือ​เกย​หาด​นั้น 40  พวก​เขา​ตัด​สมอ​ทิ้ง​ไป​และ​แก้​เชือก​มัด​หาง​เสือ ชัก​ใบ​เรือ​ที่​อยู่​ด้าน​หน้า​ให้​กิน​ลม เพื่อ​แล่น​เข้า​ไป​ที่​หาด​นั้น 41  พอ​เรือ​ชน​สันดอน​ทราย​ก็​เกยตื้น หัว​เรือ​ติด​แน่น​ขยับ​ไม่​ได้ ส่วน​ท้าย​เรือ​ก็​ถูก​คลื่น​ซัด​จน​เริ่ม​แตก​เป็น​เสี่ยง ๆ + 42  พวก​ทหาร​จึง​คิด​จะ​ฆ่า​พวก​นัก​โทษ​เพื่อ​ไม่​ให้​ใคร​ว่าย​น้ำ​หนี​ไป​ได้ 43  แต่​นาย​ร้อย​ตั้งใจ​จะ​ช่วย​ชีวิต​เปาโล​จึง​ห้าม​พวก​เขา​ไม่​ให้​ทำ​อย่าง​นั้น เขา​สั่ง​คน​ที่​ว่าย​น้ำ​ได้​ให้​กระโดด​ลง​ทะเล​แล้ว​ว่าย​เข้า​ฝั่ง​ก่อน 44  และ​บอก​คน​ที่​เหลือ​ให้​ตาม​ไป บาง​คน​เกาะ​กระดาน​ไป บาง​คน​ก็​เกาะ​ชิ้น​ส่วน​ของ​เรือ​ไป แล้ว​ทุก​คน​ก็​เข้า​ฝั่ง​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย+

เชิงอรรถ

ข้อมูลสำหรับศึกษา

พวก​เรา: เหมือน​ที่​บอก​ไว้​ในข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ กจ 16:10 และ 20:5 มี​หลาย​ส่วน​ใน​หนังสือ​กิจการ​ที่​ลูกา​ซึ่ง​เป็น​ผู้​บันทึก​เรื่อง​ราว​ใช้​คำ​สรรพนาม “พวก​เรา” (กจ 27:20) ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​มี​หลาย​ช่วง​ที่​ลูกา​ร่วม​เดิน​ทาง​ไป​กับ​เปาโล ใน​หนังสือ​กิจการ​ตั้ง​แต่​ข้อ​นี้​ไป​จน​ถึง กจ 28:16 ลูกา​ก็​ใช้​คำ​ว่า​พวก​เรา​ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ลูกา​เดิน​ทาง​ไป​กรุง​โรม​กับ​เปาโล

นาย​ร้อย: นาย​ทหาร​ใน​กองทัพ​โรมัน​ที่​มี​ทหาร​อยู่​ใต้​บังคับ​บัญชา 100 นาย

พวก​เรา: ตั้ง​แต่​ต้น​ของ​หนังสือ​กิจการ​จน​ถึง กจ 16:9 ลูกา​บันทึก​เรื่อง​ราว​เหมือน​กับ​ว่า​เขา​ไม่​ได้​อยู่​ใน​เหตุ​การณ์ แต่​ใน กจ 16:10 ลูกา​เปลี่ยน​วิธี​เขียน​ของ​เขา​โดย​รวม​ตัว​เขา​เอง​เข้า​ไป​ใน​เรื่อง​ราว​ด้วย ตั้ง​แต่​ข้อ​นี้​เขา​ใช้​คำ​ว่า “พวก​เรา” ซึ่ง​ดู​เหมือน​เป็น​การ​แสดง​ว่า​ลูกา​เดิน​ทาง​ร่วม​กับ​เปาโล​และ​เพื่อน ๆ ด้วย (ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ กจ 1:1 และ “บท​นำ​ของ​หนังสือ​กิจการ”) เมื่อ​ประมาณ​ปี ค.ศ. 50 ลูกา​เริ่ม​เดิน​ทาง​ร่วม​กับ​เปาโล​จาก​เมือง​โตรอัส​ไป​ถึง​เมือง​ฟีลิปปี แต่​ตอน​ที่​เปาโล​ออก​จาก​เมือง​ฟีลิปปี​ลูกา​ก็​ไม่​ได้​ไป​ด้วย—กจ 16:10-17, 40; ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ กจ 20:5; 27:1

พวก​เรา: ใน​ข้อ​นี้​ลูกา​ใช้​คำ​สรรพนาม “พวก​เรา” ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เขา​เข้า​ร่วม​ใน​การ​เดิน​ทาง​กับ​เปาโล​อีก​ครั้ง​ที่​เมือง​ฟีลิปปี ก่อน​หน้า​นี้​เขา​ได้​แยก​กับ​เปาโล​ใน​เมือง​ฟีลิปปี (กจ 16:10-17, 40) แต่​ตอน​นี้​เขา​ร่วม​เดิน​ทาง​กับ​เปาโล​จาก​เมือง​ฟีลิปปี​ไป​กรุง​เยรูซาเล็ม ซึ่ง​หลัง​จาก​นั้น​เปาโล​จะ​ถูก​จับ​ที่​นั่น (กจ 20:5-21:18, 33) นี่​เป็น​ส่วน​ที่ 2 ของ​หนังสือ​กิจการ​ที่​ลูกา​บันทึก​เรื่อง​ราว​เหมือน​กับ​ว่า​เขา​อยู่​ใน​เหตุ​การณ์—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ กจ 16:10; 27:1

กรุณา . . . มาก: คำ​กรีก ฟลันธะโรโพส และ​คำ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กัน ฟิลันธะโรเพีย หมาย​ถึง​การ​แสดง​ความ​รัก ความ​เป็น​ห่วง​เป็น​ใย และ​ความ​สนใจ​ใน​เพื่อน​มนุษย์ หลัง​จาก​ใช้​เวลา 1 วัน​ใน​ทะเล​และ​เดิน​ทาง​ไป​ทาง​ทิศ​เหนือ​ประมาณ 110 กม. เรือ​ก็​มา​เทียบ​ท่า​ที่​เมือง​ไซดอน​บน​ชายฝั่ง​ของ​ซีเรีย ดู​เหมือน​ว่า​นาย​ร้อย​ยูเลียส​ไม่​ได้​ปฏิบัติ​กับ​เปาโล​เหมือน​อาชญากร​ทั่ว​ไป นี่​อาจ​เป็น​เพราะ​เปาโล​เป็น​พลเมือง​โรมัน​ที่​ยัง​ไม่​ได้​ถูก​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด—กจ 22:27, 28; 26:31, 32

เรือ: คือ​เรือ​บรรทุก​ข้าว (กจ 27:37, 38) ใน​สมัย​นั้น​อียิปต์​เป็น​ประเทศ​หลัก​ที่​ส่ง​ข้าว​ให้​โรม ปกติ​แล้ว​เรือ​บรรทุก​ข้าว​ของ​อียิปต์​จะ​เทียบ​ท่า​ที่​เมือง​มิรา​ซึ่ง​เป็น​เมือง​ใหญ่​ที่​ตั้ง​อยู่​ใกล้​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​เอเชีย​ไมเนอร์ นาย​ร้อย​ยูเลียส​พบ​เรือ​ลำ​หนึ่ง​ที่​มา​จาก​เมือง​อเล็กซานเดรีย​และ​ให้​พวก​ทหาร​กับ​นัก​โทษ​ลง​เรือ​นั้น เรือ​ลำ​นี้​ต้อง​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​มาก​เมื่อ​เทียบ​กับ​เรือ​ที่​พวก​เขา​โดยสาร​มา​ใน​ช่วง​แรก​ของ​การ​เดิน​ทาง (กจ 27:1-3) เรือ​ลำ​นี้​บรรทุก​ข้าว​สาลี​ซึ่ง​เป็น​สินค้า​ที่​มี​ค่า​มาก​รวม​ทั้ง​คน​อีก 276 คน ทั้ง​ลูกเรือ พวก​ทหาร นัก​โทษ และ​อาจ​มี​คน​อื่น ๆ ที่​กำลัง​เดิน​ทาง​ไป​โรม เมือง​มิรา​อยู่​ทาง​ทิศ​เหนือ​เมือง​อเล็กซานเดรีย ดัง​นั้น เมื่อ​เรือ​เดิน​ทาง​ออก​มา​จาก​อียิปต์​จึง​อาจ​เป็น​เรื่อง​ปกติ​ที่​จะ​แวะ​ที่​เมือง​มิรา​ก่อน​จะ​ไป​โรม หรือ​อาจ​เป็น​เพราะ​มี​กระแส​ลม​ต้าน​แรง​มาก (กจ 27:4, 7) จึง​ทำ​ให้​เรือ​­จาก​เมือง​อเล็กซานเดรีย​ต้อง​เปลี่ยน​ทิศ​ทาง​และ​มา​ทอด​สมอ​อยู่​ที่​เมือง​มิรา—ดูภาค​ผนวก ข​13

ช่วง​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ใน​วัน​ไถ่​บาป: หรือ “ช่วง​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง” แปล​ตรง​ตัว​ว่า “การ​ถือ​ศีล​อด​อาหาร” คำ​ว่า “ถือ​ศีล​อด​อาหาร” ใน​ภาษา​กรีก​หมาย​ถึง​การ​อด​อาหาร​ตาม​กฎหมาย​ของ​โมเสส ซึ่ง​ก็​คือ​ศีล​อด​อาหาร​ที่​เกี่ยว​กับ​วัน​ไถ่​บาป​ประจำ​ปี​ที่​เรียก​ว่า ยมคิปปูร์ (มา​จาก​คำ​ฮีบรู ยมฮัคคิปปูริม แปล​ว่า “วัน​ของ​การ​ปิด​คลุม”) (ลนต 16:29-31; 23:26-32; กดว 29:7; ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “วัน​ไถ่​บาป”) สำนวน “การ​แสดง​ความ​เสียใจ​ต่อ​บาป​ของ​ตัว​เอง” ใน​วัน​ไถ่​บาป​โดย​ทั่ว​ไป​อาจ​หมาย​ถึง​การ​ไม่​ทำ​ตาม​ความ​ต้องการ​ของ​ตัว​เอง​ใน​หลาย ๆ ด้าน ซึ่ง​รวม​ถึง​การ​อด​อาหาร (ลนต 16:29, เชิงอรรถ) คำ​ว่า “ถือ​ศีล​อด​อาหาร” ใน กจ 27:9 ทำ​ให้​เห็น​ว่า​การ​อด​อาหาร​ใน​วัน​ไถ่​บาป​เป็น​วิธี​หลัก​ที่​ผู้​คน​แสดง​ว่า​ไม่​ทำ​ตาม​ความ​ต้องการ​ของ​ตัว​เอง ช่วง​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ใน​วัน​ไถ่​บาป​อยู่​ใน​ช่วง​ปลาย​เดือน​กันยายน​หรือ​ต้น​เดือน​ตุลาคม

ยูราคีโลน: มา​จาก​คำ​กรีก อือราคูโลน ซึ่ง​ตรง​กับ​คำ​ละติน euroaquilo คือ​ลม​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ที่​นัก​เดิน​เรือ​ชาว​มอลตา​เรียก​กัน​ว่า​ลม​เก​ร​เกล ลม​นี้​มี​กำลัง​แรง​ที่​สุด​ใน​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน จึง​เป็น​เรื่อง​อันตราย​มาก​ที่​จะ​แล่น​เรือ​ที่​มี​ใบ​เรือ​ขนาด​ใหญ่​ใน​ช่วง​ลม​แรง​แบบ​นั้น​เพราะ​เรือ​จะ​คว่ำ​ได้​ง่าย

เรือ​เล็ก: มา​จาก​คำ​กรีก สคาเฟ ซึ่ง​หมาย​ถึง​เรือ​ลำ​เล็ก​ที่​ผูก​ติด​ให้​ลอย​ลำ​อยู่​ท้าย​เรือ​ใหญ่​หรือ​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​เรือ​ที่​ใหญ่​กว่า มี​การ​ใช้​เรือ​ลำ​เล็ก​แบบ​นี้​เพื่อ​ลำเลียง​ผู้​โดยสาร​จาก​เรือ​ลำ​ใหญ่​ให้​เข้า​ไป​ที่​ชายฝั่ง หรือ​ใช้​เพื่อ​ขน​ถ่าย​สินค้า หรือ​ใช้​เพื่อ​ลาก​จูง​เรือ​ลำ​ใหญ่​ให้​เปลี่ยน​ทิศ​ทาง ใน​กรณี​ฉุกเฉิน​ก็​ใช้​เรือ​เล็ก​เป็น​เรือ​ชูชีพ​ได้​ด้วย และ​เพื่อ​ไม่​ให้​เรือ​เล็ก​จม​หรือ​ถูก​คลื่น​ซัด​จน​พัง​เสียหาย​จึง​มี​การ​ยก​เรือ​นี้​ขึ้น​เหนือ​น้ำ​และ​ผูก​ติด​ไว้​กับ​เรือ​ลำ​ใหญ่

อ่าว​เสอร์ทิส: มี​ชื่อ​กรีก​ว่า ซูร์ทิส มา​จาก​คำ​ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า “ลาก” เสอร์ทิส​เป็น​ชื่อ​อ่าว 2 อ่าว​ที่​ตั้ง​อยู่​บน​ชายฝั่ง​ที่​เว้า​เข้า​ไป​ทาง​เหนือ​ของ​แอฟริกา (ปัจจุบัน​คือ​ชายฝั่ง​ของ​ประเทศ​ลิเบีย) อ่าว​ทาง​ตะวัน​ตก (อยู่​ระหว่าง​ตู​นิส​กับ​ตริโปลี) มี​ชื่อ​ว่า​เสอร์ทิส​เล็ก (ปัจจุบัน​คือ​อ่าว​กาแบ็ส) และ​อ่าว​ทาง​ตะวัน​ออก​มี​ชื่อ​ว่า​เสอร์ทิส​ใหญ่ (ปัจจุบัน​คือ​อ่าว​ซิดรา) นัก​เดิน​เรือ​ใน​สมัย​โบราณ​กลัว 2 อ่าว​นี้​มาก​เพราะ​ทั้ง 2 อ่าว​มี​สันดอน​ทราย​ใต้​น้ำ​ที่​อันตราย​อยู่​หลาย​แห่ง สตราโบ​นัก​ภูมิศาสตร์​ชาว​กรีก​ใน​ศตวรรษ​แรก​พูด​ถึง​เรือ​ที่​ชน​เข้า​กับ​สันดอน​ทราย​เหล่า​นั้น​ว่า “แทบ​ไม่​มี​เรือ​ลำ​ไหน​รอด​ไป​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย” (Geography, 17, III, 20) โยเซฟุส (The Jewish War, 2.16.4 [2.381]) ก็​บอก​ด้วย​ว่า แค่​ชื่อ​เสอร์ทิส​ก็​ทำ​ให้​คน​ที่​ได้​ยิน​หวาด​กลัว​แล้ว—ดูภาค​ผนวก ข​13

พายุ​ใหญ่: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “พายุ​ไม่​เล็ก” คำ​กรีก​นี้​หมาย​ถึง​พายุ​รุนแรง ใน​สมัย​เปาโล​นัก​เดิน​เรือ​จะ​อาศัย​ดวง​อาทิตย์​หรือ​ดวง​ดาว​เป็น​เครื่อง​นำ​ทาง ดัง​นั้น ถ้า​สภาพ​อากาศ​มี​เมฆ​มาก​ก็​จะ​ทำ​ให้​พวก​เขา​เดิน​ทาง​ได้​ยาก

ทำ​งาน​รับใช้​ที่​ศักดิ์สิทธิ์​ให้​พระเจ้า: คำ​กริยา​กรีก ลาตรือโอ โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​หมาย​ถึง​การ​รับใช้ และ​เมื่อ​ใช้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​คำ​นี้​หมาย​ถึง​การ​รับใช้​พระเจ้า​หรือ​นมัสการ​พระองค์ (มธ 4:10; ลก 2:37; 4:8; กจ 7:7; รม 1:9; ฟป 3:3; 2ทธ 1:3; ฮบ 9:14; 12:28; วว 7:15; 22:3) หรือ​ทำ​งาน​รับใช้​ที่​วิหาร​หรือ​ที่​ศักดิ์สิทธิ์ (ฮบ 8:5; 9:9; 10:2; 13:10) ดัง​นั้น ใน​บาง​ท้อง​เรื่อง​คำ​นี้​ก็​อาจ​แปล​ว่า “นมัสการ” และ​ใน​บาง​ครั้ง​ก็​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​กับ​การ​นมัสการ​เท็จ คือ​การ​กราบ​ไหว้​หรือ​นมัสการ​สิ่ง​ที่​ถูก​สร้าง (กจ 7:42; รม 1:25) ฉบับ​แปล​บาง​ฉบับ​ที่​แปล​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​เป็น​ภาษา​ฮีบรู​อ่าน​ว่า “รับใช้ (นมัสการ) พระ​ยะโฮวา”

พระเจ้า​ที่​ผม​รับใช้: หรือ “พระเจ้า​ที่​ผม​นมัสการ”—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ กจ 26:7

ทะเล​เอเดรียติก: ใน​สมัย​เปาโล คำ​นี้​ใช้​เพื่อ​หมาย​ถึง​พื้น​ที่​ที่​กว้าง​ใหญ่​กว่า​ทะเล​เอเดรียติก​ใน​ปัจจุบัน สตราโบ​นัก​ภูมิศาสตร์​ชาว​กรีก​บอก​ว่า​ชื่อ​นี้​มา​จาก​ชื่อ​เมือง​เอ​เท​รี​ย​ที่​ตั้ง​อยู่​ปาก​แม่น้ำ​โป ซึ่ง​ตอน​นี้​เรียก​ว่า​อ่าว​เวนิส (Geography, 5, I, 8) เมือง​เอเดรีย​ของ​ประเทศ​อิตาลี​ใน​ปัจจุบัน​อยู่​ค่อนข้าง​ไกล​จาก​ชายฝั่ง แต่​ใน​สมัย​ก่อน​มี​การ​ใช้​คำ​ว่า​เอเดรีย​เพื่อ​เรียก​แหล่ง​น้ำ​ใน​เขต​เมือง​เก่า และ​ต่อ​มา​ก็​รวม​ถึง​พื้น​ที่​ของ​ทะเล​เอเดรียติก​ใน​ปัจจุบัน​ทั้ง​หมด และ​ก็​ยัง​รวม​ถึง​ทะเล​ไอโอเนียน​และ​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​ที่​อยู่​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​เกาะ​ซิซิลี (และ​เกาะ​มอลตา) และ​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​เกาะ​ครีต—ดูภาค​ผนวก ข​13

ประมาณ 36 เมตร: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “20 ฟาทอม” ฟาทอม​เป็น​หน่วย​วัด​ความ​ลึก​ของ​น้ำ ซึ่ง 1 ฟาทอม​เท่า​กับ​ประมาณ 1.8 เมตร และ​โดย​ประมาณ​แล้ว​เท่า​กับ​ระยะ​จาก​ปลาย​นิ้ว​ข้าง​หนึ่ง​ถึง​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ของ​ผู้​ชาย​ที่​กาง​แขน​ออก​จน​สุด ดู​เหมือน​ว่า​คำ​ว่า “ฟาทอม” มา​จาก​คำ​กรีก ออร์กุยอา ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า “กาง​ออก, เอื้อม”—ดูภาค​ผนวก ข​14

ประมาณ 27 เมตร: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “15 ฟาทอม”—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า​ประมาณ 36 เมตร ใน​ข้อ​นี้​และภาค​ผนวก ข​14

276: ถึง​แม้​สำเนา​พระ​คัมภีร์​บาง​ฉบับ​จะ​พูด​ถึง​จำนวน​คน​ที่​อยู่​บน​เรือ​ต่าง​ไป​จาก​นี้ แต่​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ที่​น่า​เชื่อถือ​ส่วน​ใหญ่​บอก​ว่า​มี 276 คน และ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ส่วน​ใหญ่​ก็​ยอม​รับ​ว่า​ตัว​เลข​นี้​ถูก​ต้อง เรือ​ใน​สมัย​นั้น​สามารถ​บรรทุก​ผู้​โดยสาร​ได้​มาก​ขนาด​นั้น​จริง ๆ โยเซฟุส​พูด​ถึง​เรือ​ลำ​หนึ่ง​ที่​ล่ม​ตอน​เดิน​ทาง​ไป​กรุง​โรม เรือ​ลำ​นั้น​บรรทุก​ผู้​โดยสาร​ประมาณ 600 คน

วีดีโอและรูปภาพ

กิจการ​ของ​อัครสาวก—การ​เดิน​ทาง​ของ​เปาโล​ไป​กรุง​โรม และ​การ​ถูก​ขัง​คุก​ที่​นั่น​ครั้ง​แรก (กจ 27:1-28:31)
กิจการ​ของ​อัครสาวก—การ​เดิน​ทาง​ของ​เปาโล​ไป​กรุง​โรม และ​การ​ถูก​ขัง​คุก​ที่​นั่น​ครั้ง​แรก (กจ 27:1-28:31)

เหตุ​การณ์​เรียง​ตาม​ลำดับ​เวลา

1. หลัง​จาก​ถูก​ขัง​คุก​ที่​ซีซารียา 2 ปี เปาโล​ที่​ยัง​เป็น​นัก​โทษ​ลง​เรือ​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไปโรม (กจ 27:1, 2)

2. เปาโล​กับ​เพื่อน​ ๆ ​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​เมือง​ไซดอน เปาโล​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เจอ​กับ​พี่​น้อง​ใน​เมือง​นั้น (กจ 27:3)

3. เปาโล​ออก​จาก​เมือง​นั้น​โดย​ทาง​เรือ เรือ​ของ​เขา​แล่น​ไป​ใกล้​ ๆ ​เกาะ​ไซปรัส​โดย​ใช้​เกาะ​เป็น​ที่​บัง​ลม เรือ​แล่น​ผ่าน​น่าน​น้ำ​ของ​แคว้น​ซิลีเซีย​กับ​แคว้น​ปัมฟีเลีย​และ​เข้า​เทียบ​ท่า​ที่​เมือง​มิรา​ใน​แคว้น​ลีเซีย (กจ 27:4, 5)

4. ที่​เมือง​มิรา เปาโล​ลง​เรือ​บรรทุก​ข้าว​ที่​มา​จาก​เมือง​อเล็กซานเดรีย เรือ​มา​ถึง​เมือง​คนีดัส​อย่าง​ทุลักทุเล จาก​นั้น​ก็​แล่น​ผ่าน​แหลม​สัลโมเน​โดย​ให้​เกาะ​ครีต​เป็น​ที่​บัง​ลม (กจ 27:6, 7)

5. เรือ​ของ​เปาโล​กับ​เพื่อน​ ๆ ​แล่น​เลียบ​ชายฝั่ง​ของ​เกาะ​ครีต​อย่าง​ยาก​ลำบาก​จน​มา​ถึง​ท่า​งาม (กจ 27:8)

6. เรือ​จอด​ที่​ท่า​งาม​ช่วง​หนึ่ง มี​การ​ตัดสิน​ใจ​ออก​จาก​ท่า​งาม​เพื่อ​ไป​เมือง​ฟีนิกซ์​ซึ่ง​เป็น​เมือง​ท่า​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ของ​เกาะ​ครีต (กจ 27:9-13)

7. หลัง​จาก​เรือ​แล่น​ไป​ได้​ไม่​นาน​ก็​เจอ​พายุ​ใหญ่​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ยูราคีโลน​ซึ่ง​มา​จาก​ทิศ​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ เรือ​โดน​พายุ​พัด​กระหน่ำ​จน​ต้อง​ปล่อย​ให้​เรือ​ลอย​ไป​ตาม​ลม (กจ 27:14, 15)

8. เรือ​แล่น​ไป​ใกล้​เกาะ​คาวดา​เพื่อ​ให้​เกาะ​นั้น​บัง​ลม พวก​ลูกเรือ​กลัว​ว่า​เรือ​จะ​เกยตื้น​ที่​อ่าว​เสอร์ทิส (กจ 27:16, 17)

9. ทูตสวรรค์​มา​หา​เปาโล​และ​บอก​ว่า​เขา​จะ​ต้อง​ไป​ยืน​ต่อ​หน้า​ซีซาร์ เปาโล​รับรอง​กับ​ทุก​คน​ที่​มา​กับ​เขา​ใน​เรือ​ว่า​จะ​รอด​ชีวิต (กจ 27:22-25)

10. เรือ​แตก​ที่​เกาะ​มอลตา (กจ 27:39-44; 28:1)

11. คน​พื้นเมือง​ที่​เกาะ​มอลตา​ทำ​ดี​กับ​คน​ที่​เจอ​ภัย​เรือ​แตก เปาโล​รักษา​พ่อ​ของ​ปูบลิอัส (กจ 28:2, 7, 8)

12. หลัง​จาก​ลง​เรือ​ที่​มา​จาก​เมือง​อเล็กซานเดรีย​ซึ่ง​มา​จอด​พัก​ที่​เกาะ​มอลตา​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว เปาโล​ก็​โดยสาร​เรือ​ลำ​นี้​เพื่อ​ไป​ที่​เมือง​ไซราคิวส์ จาก​นั้น​เรือ​ก็​ไป​ที่​เมือง​เรยีอูม (กจ 28:11-13​ก)

13. เปาโล​มา​ถึง​เมือง​โปทิโอลี พี่​น้อง​ที่​นั่น​ต้อน​รับ​เขา​อย่าง​อบอุ่น (กจ 28:13​ข, 14)

14. พี่​น้อง​จาก​กรุง​โรม​มา​เจอ​เปาโล​ที่​ตลาด​อัปปีอัส​และ​ที่​บ้าน​สาม​โรงแรม (กจ 28:15)

15. เปาโล​มา​ถึง​กรุง​โรม​และ​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​พัก​อยู่​ใน​บ้าน​ส่วน​ตัว​โดย​มี​ทหาร​คน​หนึ่ง​คอย​เฝ้า​ไว้ (กจ 28:16)

16. เปาโล​พูด​กับ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​โรม เขา​ประกาศ​อย่าง​กล้า​หาญ​เป็น​เวลา 2 ปี​กับ​ทุก​คน​ที่​มา​หา​เขา (กจ 28:17, 18, 21-31)

เรือ​สินค้า​ใน​ศตวรรษ​แรก
เรือ​สินค้า​ใน​ศตวรรษ​แรก

ใน​ศตวรรษ​แรก​มี​เรือ​สินค้า​หลาย​ชนิด​แล่น​อยู่​ใน​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน บาง​ชนิด​เป็น​เรือ​ที่​แล่น​ตาม​ชายฝั่ง เช่น เรือ​จาก​เมือง​อัดรามิททิยุม​ที่​เปาโล​โดยสาร​ตอน​ที่​เป็น​นัก​โทษ​จาก​เมือง​ซีซารียา​ไป​เมือง​มิรา (กจ 27:2-5) แต่​เรือ​สินค้า​ที่​เปาโล​โดยสาร​จาก​เมือง​มิรา​เป็น​เรือ​ขนาด​ใหญ่​คล้าย​กับ​ใน​รูป​นี้ เรือ​นี้​เป็น​เรือ​บรรทุก​ข้าว​สาลี​ที่​มี​ลูกเรือ​และ​ผู้​โดยสาร​รวม​ทั้ง​หมด 276 คน (กจ 27:37, 38) เรือ​นี้​น่า​จะ​มี​ใบ​เรือ​ใหญ่​และ​มี​ใบ​เรือ​เสา​หน้า​และ​อาจ​ควบคุม​โดย​หาง​เสือ​ขนาด​ใหญ่ 2 อัน​ที่​อยู่​ท้าย​เรือ เรือ​แบบ​นี้​มัก​จะ​มี​หัว​เรือ​เป็น​รูป​เทพเจ้า​หรือ​เทพ​ธิดา

1. เรือ​สินค้า

2. เรือ​หา​ปลา​ใน​ทะเลสาบ​กาลิลี

สมอ​เรือ​ที่​ทำ​จาก​ไม้​และ​โลหะ
สมอ​เรือ​ที่​ทำ​จาก​ไม้​และ​โลหะ

1. แพน​หาง

2. ก้าน​สมอ

3. ปลาย​เงี่ยง

4. เงี่ยง​สมอ

5. แถบ​ยึด

ใน​บันทึก​เหตุ​การณ์​ที่​เปาโล​เดิน​ทาง​ไป​กรุง​โรม มี​การ​พูด​ถึง​สมอ​เรือ​หลาย​ครั้ง (กจ 27:13, 29, 30, 40) ดู​เหมือน​ว่า​สมอ​เรือ​ใน​ยุค​แรก​ทำ​มา​จาก​หิน​หนัก​ ๆ ​หรือ​เป็น​สมอ​แบบ​ง่าย​ ๆ แต่​พอ​ถึง​สมัย​ที่​เปาโล​เดิน​ทาง รูป​แบบ​ของ​สมอ​เรือ​ก็​พัฒนา​ขึ้น ภาพ​วาด​นี้​แสดง​ให้​เห็น​สมอ​เรือ​แบบ​มี​เงี่ยง​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​ใน​สมัย​โรมัน สมอ​เรือ​แบบ​นี้​มัก​ทำ​มา​จาก​ไม้​และ​โลหะ ปกติ​แล้ว​แพน​หาง​ของ​สมอ​ทำ​จาก​ตะกั่ว​และ​มี​น้ำหนัก​มาก​เพื่อ​ช่วย​ให้​สมอ​จม​ลง​น้ำ และ​เงี่ยง​ของ​สมอ​ด้าน​หนึ่ง​ก็​จะ​ปัก​ลง​กับ​พื้น​ทะเล เรือ​ลำ​ใหญ่​มัก​มี​สมอ​เรือ​มาก​กว่า 1 อัน (กจ 27:29, 30) มี​การ​พบ​สมอ​เรือ​อัน​หนึ่ง​ใกล้​กับ​เมือง​ไซรีน​บน​ชายฝั่ง​แอฟริกา​ซึ่ง​มี​น้ำหนัก​ประมาณ 545 กก. การ​ค้น​พบ​นี้​เพิ่ม​น้ำหนัก​ให้​กับ​คำ​พูด​ของ​เปาโล​ที่​บอก​ว่า “ความ​หวัง​นี้​เป็น​เหมือน​สมอ​เรือ​ของ​ชีวิต​ที่​มั่นคง​แน่นอน”—ฮบ 6:19

ลูก​ตุ้ม​หยั่ง​ความ​ลึก
ลูก​ตุ้ม​หยั่ง​ความ​ลึก

ลูก​ตุ้ม​หยั่ง​ความ​ลึก (หมาย​เลข 1) มี​หลาย​รูป​ทรง​และ​หลาย​ขนาด และ​เป็น​อุปกรณ์​เกี่ยว​กับ​การ​เดิน​เรือ​ที่​เก่าแก่​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง จะ​มี​การ​มัด​ลูก​ตุ้ม​นี้​กับ​เชือก​แล้ว​โยน​ลง​ข้าง​เรือ พอ​ลูก​ตุ้ม​ตก​ถึง​พื้น​ทะเล นัก​เดิน​เรือ​จะ​สามารถ​วัด​ความ​ลึก​ของ​ทะเล​ส่วน​นั้น​ได้​โดย​ดู​จาก​ความ​ยาว​ของ​เชือก (หมาย​เลข 2) ส่วน​ล่าง​ของ​ลูก​ตุ้ม​บาง​ชนิด​จะ​มี​ชั้น​ไขมัน​สัตว์​ที่​อ่อน​นุ่ม ซึ่ง​เมื่อ​หย่อน​ลง​ไป​ถึง​ก้น​ทะเล​ก็​จะ​มี​เศษ​บาง​อย่าง​ติด​ขึ้น​มา เช่น ก้อน​กรวด​และ​ทราย และ​เมื่อ​ดึง​ขึ้น​มา นัก​เดิน​เรือ​ก็​จะ​เอา​เศษ​เหล่า​นั้น​มา​ดู​ได้​ว่า​มัน​คือ​อะไร ถึง​แม้​ลูก​ตุ้ม​เหล่า​นี้​อาจ​ทำ​จาก​วัสดุ​หลาย​ชนิด แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ทำ​จาก​ตะกั่ว จึง​ไม่​แปลก​ที่​คำ​กริยา​กรีก​ที่​ใน กจ 27:28 แปล​ว่า “หยั่ง​ความ​ลึก, หยั่ง” จะ​มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “ยก​ตะกั่ว​ขึ้น​มา”

1. ลูก​ตุ้ม​หยั่ง​ความ​ลึก

2. เชือก